ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห่วงขยะติดเชื้อโควิดพุ่ง! หลังเริ่มใช้ชุดตรวจ-กักตัว Home Isolation

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ค. 64
13:24
1,995
Logo Thai PBS
ห่วงขยะติดเชื้อโควิดพุ่ง! หลังเริ่มใช้ชุดตรวจ-กักตัว Home Isolation
กรมอนามัย แนะผู้ที่แยกกักตัวที่บ้าน กำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย COVID-19 และชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้ถูกวิธี หลังพบช่วงเดือนมิ.ย.นี้ขยะติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 210 ตันต่อวัน

วันนี้ (16 ก.ค.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีมูลฝอยติดเชื้อช่วงม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา รวม 31,709.84 ตัน เฉพาะมิ.ย.พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน ทั้งนี้จากการหารือนโยบายแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) อาจทำให้ขยะมูลฝอย และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภคแบบใช้ครั้งเดียว

โดยเฉพาะ Antigen Test Kit ถือเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีการแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยประชาชนที่มีการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของ COVID–19

อ่านข่าวเพิ่ม ขยะติดเชื้อพุ่ง 20 ตันต่อวันวาง 1,000 จุดทิ้งแมสก์ "พับ ก่อน ทิ้ง"

แนะวิธีจัดการขยะติดเชื้อจากการแยกกัก

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการจัดการขยะติดเชื้อในพื้นที่ชุมชน ถ้ามีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมทุกวันใส่ถุงขยะถุงแดง 2 ชั้น ถุงชั้นแรกที่สัมผัสมูลฝอยติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 พีพีเอ็ม หรือใช้น้ำยาฟอกขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1 :10 หรือแอลกอฮอล์ 70%

จากนั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง และเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อการนำมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจาก Home Isolation และ Community Isolation ไปกำจัดอย่างถูกต้อง

ส่วนกรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 พีพีเอ็ม หรือเตรียมจากไฮเตอร์ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 :10 หรือแอลกอฮอล์ 70% ซ้อนขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขยะหน้ากากอนามัย ส่อแววพุ่งคนแห่ใช้-ทิ้งปะปนขยะบ้าน

คาดการณ์ขยะติดเชื้อจาก รพ.สนาม 1.82 กก.ต่อเตียงต่อวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง