วันนี้ (22 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.กาญจนบุรี 4 ครั้ง โดยจุดศูนย์กลางของการเกิด อยู่ในพื้นที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ วัดค่าได้แรงสุดขนาด 3.7 จากข้อมูล กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า
- เวลา 22.00.13 น.วันที่ 21 ก.ค.64 ขนาด 2.1 ความลึก 2 กิโลเมตร
- เวลา 22.18.41 น.วันที่ 21 ก.ค.64 ขนาด 3.7 ความลึก 2 กิโลเมตร
- เวลา 02.22.49 น.วันที่ 22 ก.ค.64 ขนาด 2.0 ความลึก 1 กิโลเมตร
- เวลา 05.20.24 น. วันที่ 22 ก.ค.64 ขนาด 2.9 ความลึก 1 กิโลเมตร
ทั้งนี้มีรายงานรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน หลายพื้นที่ใน จ.กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เช่น
- สภ.องค์พระ จ.สุพรรณบุรี บ้านเดี่ยว มากกว่า 1 ชั้น ชั้น 2 รู้สึกเหมือนเตียงสั่นๆ
- ต.วังด้ง ม.1บ้านเดี่ยว 1 ชั้น อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รู้สึกเหมือนเตียงสั่นๆ
- โรงเรียนบ้านเขาแหลม ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ หลังคาสั่นสะเทือน
- ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย เตียงนอนสั่น ประมาณ 4 วินาที
- ชุมชนน้ำตกนอก ห้องแถวย่าน เอราวรรณ บ้านเดี่ยว 1 ชั้น นอนอยู่รู้สึกถึงเตียงสั่นสะเทือนได้
รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ขยับตัวระดับตื้น
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า แผ่นดินไหวทั้ง 4 ครั้งเกิดจากการขยับตัวของแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนในภาคตะวันตกที่พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้หลายจุด เพราะเป็นการขยับหรือแผ่นดินไหวในระดับความลึกเพียง 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น
การขยับตัวครั้งนี้ ยังถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่เนื่องจากเกิดในระดับตื้นแค่ 1-2 กิโลเมตรจึงรับรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ที่ผ่านมากรมทรัพยากรธรณี มีการตั้งวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่รอยเลื่อนขนาดใหญ่ไว้อย่างน้อย 40-50 จุด เพื่อใช้ศึกษาพฤติกรรมรอยเลื่อนมีพลัง การศึกษาเคลื่อนตัวมีการเคลื่อนตัวแบบไหน
นายมนตรี กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีประสานกับทางเครือข่ายเฝ้าระวังแผ่นดินไหวในพื้นที่ ยังไม่มีรายงานความเสียหายขึ้น แต่ยังติดตามอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องไป ส่วนข้อกังวลเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคตะวันตก ขอประชาชนอย่ากังวงเพราะและการก่อสร้างเขื่อน ต้องออกแบบรับแรงสั่นสะเทือนสูงสุด เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว
เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ถ้าเทียบกับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ที่ระดับความลึก 1 กิโลเมตรในลาว เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ 3 จังหวัดของไทย คือ น่าน พะเยา และเชียงราย ประชาชนรับรู้แรงสั่นสะเทือน โดยเกิดจากการขยับตัวของรอยเลื่อนเมืองหงสา
ไม่กระทบเขื่อนวชิราลงกรณ
นายวัลลภ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์ว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ที่ความลึก 2 กิโลเมตร มีระยะทางห่างจากเขื่อนวชิราลงกรณ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 63.07 กิโลเมตร
ในส่วนเครื่องวัดอัตราเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวเขื่อนวชิราลงกรณตรวจวัดได้ ค่าสูงสุด 0.00160 g แผ่นดินไหวขนาด 3.7 ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของ เขื่อนวชิราลงกรณ รวมทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ.แต่อย่างใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก "รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์" เคยเกิดแผ่นดินไหวแรงสุด 5.9
แผ่นดินไหวลาว 4.8 สะเทือนถึง "น่าน-พะเยา-เชียงราย"