รับเงินอัดฉีดไม่เกิน 10 ล้านบาท
ข้อร้องเรียนนี้กลายเป็นคำถามให้หลายคนเริ่มสงสัย แต่หากดูข้อมูลจากประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (28) จะพบว่า กฎหมายได้ยกเว้นภาษีเงินได้ "กรณีเงินจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี" ดังนั้น สำหรับนักกีฬา และผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้รับเงินอัดฉีดไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
รับเงินอัดฉีดเกิน 10 ล้านบาท
ส่วนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้รับเงินอัดฉีดจากรายการแข่งขันกีฬานานาชาติเกิน 10 ล้านบาท กฎกระทรวงฉบับที่ 325 (พ.ศ.2560) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 293 เมื่อปี 2560 ก็ออกมายกเว้นภาษีเงินได้ เพื่อสนับสนุนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
ตัวอย่างน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดสาวเหรียญทอง โอลิมปิก 2020 ซึ่งล่าสุด ได้รับเงินอัดฉีด 21.8 ล้านบาท นับว่าเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะถือว่าเป็นเงินรางวัลจากรายการแข่งขันกีฬานานาชาติ
ว่าด้วยเรื่องภาษี 7%
ส่วนคำถามว่า "เข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บภาษี 7%" หรือไม่นั้น อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "ภาษี 7%" หรือ "VAT 7%" เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ประกอบการเมื่อมีคนซื้อสินค้าหรือบริการเท่านั้น
ดังนั้น ในกรณีเงินอัดฉีดนักกีฬาโอลิมปิก "สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ" โฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า แม้น้องเทนนิส จะมีเงินได้เกิน 21.8 ล้านบาทต่อปี แต่น้องเทนนิส ไม่ใช่ผู้ประกอบการ หรือ ให้บริการ ตามเงื่อนไข มาตรา 77/2(1) จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนนี้ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 293 เมื่อปี 2560 ยังกำหนดว่า เงินอัดฉีดจะต้องได้รับภายใน 1 ปี นับแต่วันที่การแข่งขันสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ และนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าเงินที่ได้รับมาจากการเข้าร่วมการแข่งขันต่อกรมสรรพากรด้วย
รายการแข่งขันที่ยกเว้นภาษี กรณีเงินอัดฉีดเกิน 10 ล้าน
- โอลิมปิกเกมส์ (ฤดูร้อน - ฤดูหนาว)
- พาราลิมปิกเกมส์
- เอเชียนเกมส์ (ฤดูร้อน - ฤดูหนาว)
- อาเซียนพาราเกมส์
- เอเชียนพาราเกมส์
- เอเชียนอินดอร์มาเชียลอาร์ตเกมส์
- เอเชียนบีชเกมส์
- ซีเกม
- การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งโลก
- การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย
- การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งอาเซียน หรือ
- รายการแข่งขันระดับนานาชาติที่สหพันธ์กีฬานานาชาติเป็นเจ้าของการจัดแข่งขัน
อ้างอิงจาก
มาตรา 77 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
https://www.rd.go.th/5205.html#mata77_1
มาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร
https://www.rd.go.th/5937.html
กฎกระทรวงฉบับที่ 325 (พ.ศ.2560) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
https://rd.go.th/file.../user_upload/kormor/newlaw/mr325.pdf