วันนี้ (10 ส.ค.2564) การออกมาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด โดยเฉพาะในจังหวัดสีแดงเข้ม ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การสั่งปิดกิจการมีผลอย่างมากต่อตลาดแรงงาน พร้อมประเมินว่า หากยืดเยื้อถึงสิ้นปีคาดจะส่งผลให้ตัวเลขอัตราการว่างงานของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.5-3 ส่วนตัวเลขของผู้ว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน
พร้อมเสนอให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยการจ่ายเงินช่วยเหลือตามบัตรประชาชนอย่างน้อยวันละ 100 บาท ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เห็นว่า มาตรการเยียวยาของรัฐในการจ่ายเงินช่วยเหลือ 2,500 -5,000 บาท ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ควรทำเป็นแพคเกจแก้ปัญหาระยะยาว เช่น สำรวจผู้ว่างงานในแต่ละจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ส่วนนักศึกษาจบใหม่ควรทำโครงการจ้างงานระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือเพราะปี 2564 จะมีนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 500,000 คน
ทั้งนี้ เว็บไซต์จัดหางานจ็อบดีบี รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1.96 ขณะที่แนวโน้มการหางานในช่วงไตรมาสที่ 4 จะหายากขึ้น โดยพบว่าจำนวนใบสมัครงานในครึ่งปีแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ12 เทียบกับครึ่งปีหลังปี 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2563
ส่วนจำนวนใบสมัครงานต่อประกาศงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 ใบต่องาน สะท้อนจำนวนผู้สมัครงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การประกาศรับสมัครงานน้อยลง และการคาดการณ์ว่าการประกาศงานครึ่งปีหลังจะลดลงร้อยละ 50
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ การเดินทางและการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการเฉพาะกิจ สินค้าอุตสาหกรรม บริการด้านอุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์ และขายปลีก