วันนี้ (16 ส.ค.2564) พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นญัตติด่วนขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล
นายสมพงษ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เห็นถึงความบกพร่องรัฐบาลใน 1 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการบริหารโควิด-19 และการกระจายวัคซีน จึงจำเป็นยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และขอประธานสภาฯ บรรจุวาระการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนรายชื่อรัฐมนตรีได้พิจารณาถ่องแท้ปรึกษาหารือกัน ส.ส.ได้เสนอรายชื่อบุคคลมากมาย ได้คุยกัน ตรวจสอบ และตกผลึกที่ 6 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายสุชาติ ชมกลิ่น และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ไร้ชื่อ "พล.อ.ประวิตร" เหตุเน้นโควิด-เศรษฐกิจ-ทุจริต
ส่วนกรณีที่ไม่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการอภิปรายครั้งนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ "โควิด - เศรษฐกิจ - ทุจริตฯ" เป็นหลัก ซึ่งการอภิปรายบุคคลใดคนหนึ่งต้องตรวจสอบว่าสามารถชี้แจงประชาชน ได้ทราบว่างานของเขาที่ทำผิดพลาดเป็นอย่างไร
นายสมพงษ์ กล่าวว่า จากการหารือกับพรรคก้าวไกล เชื่อว่าอภิปรายหลักฐานที่จะอภิปรายครบถ้วน ที่จะทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต้องฟังฝ่ายค้านอภิปราย และฟังความเดือดร้อนประชาชน เรื่องโควิด-19 ปัญหาของรัฐบาลนี้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่สุดไปกว่านี้ วอน ส.ส.รัฐบาล พิจารณาการโหวตไม่ไว้วางใจ
"พิธา" ยืนยันไม่มีปัญหารอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า กระบวนการเหมือนการอภิปรายทุกครั้ง แต่ละพรรคมีรายชื่อของพรรค แต่สุดท้ายต้องฟังเสียงพรรคฝ่ายค้าน โดยตั้งใจอภิปราย เพื่อใช้กลไกสภาแก้ไขวิกฤต ลดความขัดแย้ง ถอดสลักที่ชื่อว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ออกไป เพื่อให้ประเทศเดินหน้า และการอภิปรายครั้ง 3 ต่างจากครั้งก่อน เรื่องความเดือดร้อนเกิดผลกระทบในวงกว้าง กระทบประชาชน มีคนส่งหลักฐานมาเยอะ
ขณะเดียวกัน มองว่าบรรยากาศนอกสภา และบรรยากาศการอภิปรายตรงกัน ความชอบธรรมบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ แทบไม่เหลือ จึงต้องใช้กลไกสภาฯ อภิปรายให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอาฟเตอร์ช็อกต่อไป และไม่มีปัญหารอยร้าวในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งประชาชนต้องมาก่อน มีวุฒิภาวะพอที่จะวางความแตกต่าง โดยจะทำเต็มที่ในการอภิปรายฯ ครั้งนี้
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ชี้แจงกระบวนการบรรจุญัตติ จากนี้เจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบความสมบูรณ์ญัตติไม่ให้ขัดข้อบังคับใน 7 วัน จากนั้นแจ้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อกำหนดวันอภิปราย ย้ำรัฐบาลจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่การถอดญัตติฯ และสำหรับมาตรา 152 การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ พรรคการเมืองฝ่ายค้านยังทีสิทธิยื่นได้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมให้ข้อสังเกตว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดย 2 ครั้งแรก อภิปรายในเดือน ก.พ.2565 ซึ่งเป็นสมัยประชุมที่ 2 ส่วนครั้งนี้ เป็นการอภิปรายในสมัยประชุมแรก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง