วันนี้ (20 ส.ค.64) เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดรายการเสวนาออนไลน์ “เขื่อน (อ่างฯ) คุกคาม มรดกโลก ? ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เพื่อให้สาธารณชนได้ร่วมรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงในพื้นที่
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างทั้ง 7 แห่ง อยู่ในลุ่มน้ำบางปะกง มีปริมาณน้ำท่า 7,000 กว่าล้าน ลบ.ม. แต่ที่ผ่านมาเก็บน้ำได้ 1,700 ล้าน ส่วนอีก 5,000 ล้านลบ.ม.ทิ้งทะเลไปไม่สามารถเก็บกักได้ เพราะไม่มีอ่าง
สำหรับรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางประมาณ 10 แห่ง แต่จากน้ำที่ไหลจากเขาลงมาทำให้กรมชลประทาน มีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม และเป็นไปตามแผนการศึกษาเดิม ยืนยันการพัฒนาพื้นที่จะขึ้นกับสภาพภูมิประเทศ
อ่านข่าวเพิ่ม คนเขาใหญ่ออกแคมเปญ "NO DAM" ค้าน 7 อ่างผุดกลางป่า "มรดกโลก"
มรดกโลกมาทีหลัง "อ่างห้วยสะโตน"
ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า สถานภาพโครงการอ่าง 7 แห่ง เช่น ห้วยสะโตน จ.สระแก้ว ศึกษารายงานอีไอเอแล้วเสร็จในปี 2561 คลองมะเดื่อส่งให้สผ.และคณะกรรมการมรดกโลก ส่วนอ่างลำพระยาธาร-คลองวังมืด รวมทั้งไสน้อย-ไสใหญ่ อยู่ระหว่างการศึกษาทางเลือก ส่วนคลองบ้านนา เคยศึกษาความเหมาะสมไปแล้วครั้งหนึ่งแต่ยังไม่ได้ทำอีไอเอ และหนองแก้ว ยังไม่มีแผน และที่ออกมาเพราะทางกรมอุทยานฯ ขอให้กรมชลประทานเสนอถึงสถานภาพจึงถูกนำมาสู่สาธารณชน
ห้วยสะโตน จ.สระแก้ว ศึกษาอีไอเอแล้ว กรมชลประทานเริ่มดำเนิน 2525 ศึกษาและออกแบบไว้ตั้งแต่ยังไม่ยังประกาศเขตอุทยาน ดังนั้นมรดกโลกมาทีหลัง และเมื่อประกาศเขตอุทยาน รวมทั้งเคยนำเข้าคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เคยมีมติให้เพิกถอนแล้ว แต่หลังประกาศไป 3 เดือนเป็นมรดกโลก จึงไม่ได้ทำอะไรต่อ
ชี้คลองมะเดื่อ มีภัยคุกคามอื่น
นายมหิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอ่างเก็บน้ำคลองมะเดือ มีการทำอีไอเอแล้ว พื้นที่อ่างมีพื้นที่หัวงานในเขตอุทยาน 1,853 ไร่ในเขาใหญา คิดเป็น 0.08 ของพื้นที่อุทยาน และพบว่าพื้นที่มีภัยคุกคามมรดกโลก เพราะมีชาวบ้านมีออฟโรด และจากผลการศึกษาพบว่าชาวบ้านเข้าไปหาของป่าและนำสุนัขเข้าไปพื้นที่อาจนำเชื้อโรคเข้าไป
และรอบๆเองมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทั้งการทำเกษตร ที่อยู่อาศัย และสถานประกอบการท่องเที่ยว สภาพป่าเหลือค่อนข้างน้อย และช่วงหน้าฝนคลองมะเดื่อมีน้ำแรงและเกิดปัญหาน้ำหลาก ดังนั้นหากตรวจสอบสภาพของป่าที่ใช้ในโครงการจริงเหลือ 700 กว่าไร่
พบเสือโคร่งหากินใกล้พื้นที่สร้างเขื่อน
ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า ถ้ายังอยู่ในขั้นการศึกษาก็จะยังก่อสร้างไม่ได้บางโครงการใช้เวลาในการศึกษา 30-40 ปี และช่วงหลายเดือนก่อนองค์กรอนุรักษ์ บอกว่ากรมชลประทานจะสร้างเขื่อนกลางป่า ทั้งที่การพัฒนามาจากนโยบายรัฐบาล และประชาชนเรียกร้อง อยากให้กลุ่มอนุรักษ์เข้าใจด้วย
ด้านนายสุรพล ดวงแข อดีตเลขามูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ตั้งข้อสังเกตว่าป่ามรดกโลกมีความสำคัญที่ต้องรักษาไว้ เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการถูกถอดถอนจากความเป็นมรดกโลก ทั้งนี้มองว่าการจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องมีในเขื่อนเท่านั้น ต้องมองภาพรวมควบคู่ไปกับการรักษาป่าไม่เกิดความสูญเสีย
ส่วนตัวแทนชาวบ้านสาลิกา กล่าวว่า กังวลอ่างเก็บน้ำคลองมะเดือ สร้างแล้วชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากการถูกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอผลการศึกษาการกระจายตัวของเสือโคร่งที่หากินในพื้นที่ป่าทับลาน ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบภาพสัตว์ป่า 58 ชนิดที่กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าถ่ายไว้ได้ เช่น เสือโคร่งได้ถึง 20 ตัวรวมทั้งช้าง ชะมดแผงสั้นหางดำ กระทิง เสือลายเมฆ นากใหญ่ขนเรียบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตาเขื่อนกลางป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไทยเสี่ยงหลุด “มรดกโลก”
สำรวจ "รอยเสือโคร่ง" ป่ามรดกโลกทับลาน ก่อนผุดอ่างคลองวังมืด
เบรกไทยสร้างเขื่อนรอบ "เขาใหญ่" เสี่ยงถูกถอดจากมรดกโลก