ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผ่างบฯ อาวุธตำรวจย้อนหลัง 7 ปี

การเมือง
20 ส.ค. 64
11:14
2,980
Logo Thai PBS
ผ่างบฯ อาวุธตำรวจย้อนหลัง 7 ปี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เคยถูกตั้งคำถามถึงจำนวนการสั่งอาวุธต่างๆ จนกระทั่ง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้ตัดงบซื้ออาวุธของ ตร. วงเงินเกือบ 600 ล้านบาท เมื่อ ก.ค. 64 แต่ไม่สำเร็จ The EXIT ย้อนดูงบซื้ออาวุธย้อนหลัง 7 ปี พบอาวุธปืนสะสมมากกว่า 4 หมื่นกระบอก

ส่องงบซื้ออาวุธ ตร. ย้อนหลัง 7 ปี

  • สั่งซื้อปืนมากที่สุด

The EXIT ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ประเทศไทย สำนักงบประมาณและการเงิน ตร. และ กองสรรพาวุธ สำนักส่งกำลังบำรุง (สกบ.) ตร. พบว่า ทั้งงบประมาณและจำนวนอาวุธที่จัดซื้อ ช่วงปีงบประมาณ 2558-2564 มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดปีงบประมาณ 2564 จึงพบข้อมูลการจัดซื้ออาวุธเพียง 2 โครงการ อย่างไรก็ตามในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า ตร.ได้รับจัดสรรงบซื้ออาวุธทั้งหมด 26,450 รายการ วงเงินรวมกันกว่า 1,222 ล้านบาท

จากข้อมูลพบว่า 7 ปีที่ผ่านมา ตร. ซื้ออาวุธทั้งหมด 43,774 รายการ แบ่งเป็น อาวุธปืน 41,632 กระบอก ระบบปืนแบบยิงโดยหมุนลำกล้อง 2,112 ชิ้น เครื่องยิงลูกระเบิด 26 เครื่อง กล้องเล็งซุ่มยิง 2 ชิ้น และหุ่นยนต์สังหาร 2 ตัว

 

  • ซื้อปืนลูกซองมากที่สุด

อาวุธปืนที่จัดซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ปืนลูกซอง 15,349 กระบอก ปืนพก 11,726 กระบอก ปืนเล็กยาว 6,850 กระบอก ปืนกลมือ 3,365 กระบอก ปืนช็อตไฟฟ้า 2,755 กระบอก ทั้งนี้ หน่วยงานที่ซื้อปืนลูกซองมากที่สุดคือ กองสรรพาวุธ สกบ. จัดซื้อไปทั้งหมด 15,350 กระบอก

 

  • กองสรรพาวุธ สกบ. จัดซื้ออาวุธมากที่สุด

ระหว่างปีงบประมาณ 2558-2564 หน่วยงานของ ตร. ที่จัดซื้ออาวุธมากที่สุดคือ กองสรรพาวุธ สกบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องอาวุธ จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ อาวุธยุทธภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการใช้งาน และตรงกับความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

จากสถิติพบว่า ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กองสรรพาวุธ สกบ.จัดซื้ออาวุธหลายชนิดสะสมอยู่ที่ 39,715 รายการ วงเงินรวม 2,053,718,300 บาท

รองลงมาคือ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการและควบคุมสั่งการตำรวจทุกหน่วยที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จัดซื้ออาวุธปืนสะสม 3,550 กระบอก วงเงินรวม 112,813,000 บาท และอันดับสาม ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จัดซื้ออาวุธปืนสะสม 263 กระบอก วงเงินรวม 20,461,000 บาท

  • งบซื้ออาวุธ ตร.พุ่งสูงสุดในปีงบประมาณ 2562

 

หากพิจารณภาพรวมข้อมูลงบประมาณ 7 ปี พบว่าโครงการจัดซื้ออาวุธของ ตร. มีวงเงินการจัดซื้อสูงมากระหว่างปีงบประมาณ 2560, 2562 และ 2563 โดยคิดเป็นร้อยละ 89.16 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2564 และสังเกตได้ว่าปีงบประมาณ 2562 และ 2563 มีวงเงินงบประมาณในโครงการจัดซื้ออาวุธปืนคิดเป็นร้อยละ 58 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2564 ด้วยเช่นกัน

ในปีงบประมาณ 2562 ที่มีวงเงินจัดซื้ออาวุธมากที่สุด 735,209,600 บาท พบว่า เป็นเงินที่ใช้จ่ายไปกับการจัดซื้ออาวุธปืนของกองสรรพาวุธ สกบ. เกือบทั้งหมด มูลค่าการจัดซื้ออาวุธ 3 อันดับแรกในปี 2562 ได้แก่ การจัดซื้อปืนลูกซองจำนวน 12,508 กระบอก วงเงิน 385,168,000 บาท รองลงมาคือจัดซื้อปืนเล็กยาวจำนวน 800 กระบอก วงเงิน 126,500,000 บาท และการจัดซื้อปืนกลมือจำนวน 500 กระบอก วงเงิน 90,000,000 ล้านบาท

  • 21 บริษัทคว้างบจัดซื้ออาวุธ ตร. ช่วงปีงบประมาณ 2558-2564

 

จากข้อมูลการสั่งซื้ออาวุธช่วงปีงบประมาณ 2558 - 2564 วงเงินรวมกัน 2,212,872,078 บาทพบว่า ตร. สั่งซื้ออาวุธผ่านบริษัทเอกชนทั้งหมด 21 แห่ง และบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าการขายอาวุธให้กับ ตร. มากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้

  • บจก. Israel Weapon Industries (IWI) Ltd. วงเงิน 490,980,000 บาท
    - ปืนเล็กยาว 6,000 กระบอก
  • บจก. ฟิกซ์เท็กซ์                                        วงเงิน 401,276,100 บาท
    - เครื่องยิงลูกระเบิด 22 เครื่อง
    - ปืนกลมือ 200 กระบอก
    - ปืนช็อตไฟฟ้า 2,755 กระบอก
    - ปืนซุ่มยิง 5 กระบอก
    - ปืนเล็กยาว 350 กระบอก
    - ปืนเล็กสั้น  350 กระบอก
  • บจก. จี.เอ.เอ.เอ็นเตอร์ไพรส์ (ไทยแลนด์)           วงเงิน 333,784,800 บาท
    - กล้องเล็งปืนซุ่มยิง 2 อัน
    - เครื่องยิงลูกระเบิด 4 เครื่อง
    - ปืนกลมือ 655 กระบอก
    - ปืนซุ่มยิง 82 กระบอก
    - ปืนลูกซอง 7,635 กระบอก
    - ปืนเล็กสั้น 313 กระบอก
  • บจก. รอยัล ดีเฟนด์                                      วงเงิน 298,007,000 บาท
    - ปืนกลมือ 500 กระบอก
    - ปืนซุ่มยิง 60 กระบอก
    - ปืนเล็กยาว 500 กระบอก
    - ปืนเล็กสั้น 500 กระบอก
  • บจก. กาญจส์ คอร์ปอเรชั่น                              วงเงิน 186,034,600 บาท
    - ปืนกลมือ 40 กระบอก
    - ปืนซุ่มยิง 6 กระบอก
    - ปืนลูกซอง 3,715 กระบอก

พรรคร่วมฝ่ายค้านชงหั่นงบซื้ออาวุธ ตร. ปี 65 ไม่สำเร็จ

ในฐานะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์และ ICT ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 กล่าวว่า เขาเสนอให้ตัดงบซื้ออาวุธตำรวจวงเงินเกือบ 600 ล้านบาท จากงบประมาณการซื้ออาวุธที่ ตร. ขอมาทั้งหมดประมาณ 800 ล้านบาท ได้แก่

  • งบจัดซื้ออาวุธปืนเล็กสั้นขนาด 5.56 มม. จำนวน 1,000 กระบอก มูลค่า 150 ล้านบาท
  • งบจัดซื้ออาวุธปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มม. จำนวน 2,000 กระบอก มูลค่า 128.34 ล้านบาท
  • งบจัดซื้อปืนกลมือขนาด 9 มม. จำนวน 4,000 กระบอก มูลค่า 321.60 ล้านบาท

ในวันที่คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณครุภัณฑ์ของ ตร. นายพิจารณ์ บอกว่า งบอาวุธต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นงบผูกพัน ทำให้การตัดงบเป็นไปได้ยาก เขาได้ตำหนิไปว่า ตร.ไม่ควรตั้งงบประมาณซื้อครุภัณฑ์อาวุธที่เป็นงบผูกพันหลายปี ทั้งที่สามารถซื้อได้หมดในปีเดียว

ทางตำรวจเขาก็ชี้แจงอนุกรรมาธิการฯ ว่า ที่ตั้งแบบนี้ก็เพื่อให้งบปีแรกเป็นก้อนน้อยๆ เหมือนแหย่ขาไว้ก่อน เพื่อให้โครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้น แล้วค่อยเอาเงินปีหน้ามาจ่าย แบบนี้มันเหมือนหน่วยงานอยากได้งบฯ ก็เลยตั้งงบฯ ผูกพัน
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

เหตุผลที่นายพิจารณ์เสนอตัดงบซื้ออาวุธตำรวจ เพราะเห็นว่าการจัดซื้ออาวุธจำนวนมากไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เงินส่วนนี้ควรนำไปใช้อุดหนุนสวัสดิการให้ประชาชน และอาวุธที่เขาเสนอให้ระงับการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2565 เป็นอาวุธที่ไม่ได้ใช้สำหรับอาชญากรรมร้ายแรง งานปกป้องชายแดน หรือใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษ แต่เป็นอาวุธที่อาจถูกส่งไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เขาเกิดคำถามว่าอาวุธเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้กับประชาชนหรือไม่

นายพิจารณ์ยกตัวอย่างกรณีใช้อาวุธเกินกว่าเหตุในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรงจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาพบว่าสัดส่วนการสะสมอาวุธของตำรวจในรัฐแอริโซนาต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 22 กระบอกต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ จำนวนอาวุธสะสมของตำรวจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 116 กระบอกต่อประชากร 100,000 คน

“ที่ผ่านมาเราพบหลายเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่า มีการใช้อาวุธผิดพลาดและนำไปสู่ความสูญเสียของประชาชน”

จากจำนวนการสะสมอาวุธของตำรวจที่นายพิจารณ์มองว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่แน่ใจว่าจำนวนและมูลค่าการสั่งซื้อในปีต่อไปจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากเดิม เขาจึงมองว่าองค์กรตำรวจไทยกำลังเข้าสู่การสะสมอาวุธจนเป็นกองกำลังหรือเป็น Police Militarization ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ควรเป็นผู้รักษากฎหมายและปกป้องประชาชน

การควบคุมความสงบสามารถใช้สันติวิธีได้ ตำรวจอาจบอกว่าอุปกรณ์ต้องพร้อมใช้ แต่ผมก็ขอถามว่าการที่ตำรวจมีอาวุธปืนเยอะๆ มันหยุดยั้งอาชญากรรมได้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าการมีอาวุธปืนมันเท่ากับการไม่มีอาชญากรรม

Police Militarization คืออะไร

Police Militarization หมายถึง ปฏิบัติการของตำรวจที่ถูกทำให้เป็นปฏิบัติการทางทหาร หรือ ปฏิบัติการสงคราม โดยอาจกล่าวได้ว่าตำรวจกำลังทำตัวเป็นหน่วยรบในเมืองเสียเอง นี่คือคำอธิบายของ รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถามว่าตำรวจสามารถมีอาวุธได้ไหม มันมีได้ แต่โดยข้อเท็จจริงต้องมาดูว่าคุณใช้อาวุธเหล่านั้นกับใคร

รศ.พวงทอง มองว่า ตำรวจใช้อาวุธเพื่อต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มที่มีอาวุธร้ายแรงอย่างขบวนการค้ายาเสพติดได้ แต่ไม่ควรใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ นอกจากพบว่าผู้ชุมนุมทุบตีทำลายร้านค้าเพื่อขโมยข้าวของ หรือทำให้คนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธเพื่อระงับเหตุได้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าจะเป็นผลดีหากรัฐสภาสามารถลดหรือตัดงบการซื้ออาวุธของตำรวจลงบ้าง แต่การตัดหรือลดงบอาวุธของตำรวจเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้องค์กรตำรวจเลิกเป็นหน่วยรบในเมืองได้ หากทัศนคติของตำรวจที่มีต่อการใช้อาวุธยังไม่เปลี่ยนแปลง

ทหารจะถูกฝึกให้รบกับศัตรูภายนอก มองเห็นว่าศัตรูคือสิ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ดิฉันมองว่าตำรวจไทยรับเอา mindset แบบนี้เข้ามาใช้ในปฏิบัติการของตัวเอง ผ่านการรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือรัฐบาล

รศ.พวงทอง ยกตัวอย่างเหตุการณ์การเข้าควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า “ผู้ชุมนุม” ถูกทำให้เป็น “ผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นภัยความมั่นคงของตัวระบอบ” จึงต้องถูกปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด ไม่มีความอ่อนข้อหรือความอดทนอดกลั้นใดๆ (Zero tolerance)

เมื่อตำรวจไทยถูกทำให้เป็นหน่วยรบในเมือง

ตำรวจผ่านการฝึกแบบทหารและถูกทำให้เป็นหน่วยรบในเมือง (Militarized) มายาวนาน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า ตำรวจไทยมีหน่วยรบเป็นของตัวเองมาหลายสิบปี เช่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และหน่วยพลร่ม (ปัจจุบันคือกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดอยู่ใน ตชด.) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA สหรัฐฯ เพื่อฝึกรบแบบสงครามกองโจร และได้ปฏิบัติการรบที่ประเทศลาวในช่วงสงครามเวียดนาม นอกจากนี้ยังพบว่าในอดีต ทั้ง ตชด. และหน่วยพลร่มต่างออกปฏิบัติการในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ภาพ ตำรวจพลร่มกับปืนไร้แสงสะท้อนหลัง (ที่มา : https://doct6.com/archives/13442)

ภาพ ตำรวจพลร่มกับปืนไร้แสงสะท้อนหลัง (ที่มา : https://doct6.com/archives/13442)

ภาพ ตำรวจพลร่มกับปืนไร้แสงสะท้อนหลัง (ที่มา : https://doct6.com/archives/13442)

ช่วงที่ประเทศไทยประกาศทำสงครามกับยาเสพติดในปี 2546 และทำให้ประชาชน 2,257 คนถูกวิสามัญฆาตกรรมภายในเวลา 3 เดือน ที่เริ่มต้นโครงการ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าปฏิบัติการของตำรวจถูกทำให้เป็นปฏิบัติการทางทหารอย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน

เราอาจไม่ได้สนใจหน่วยรบของตำรวจไทย หรือมองว่าตำรวจไทยกำลังถูกทำให้กลายเป็นกองกำลังแบบทหาร เพราะว่าเราหลงลืมประวัติศาสตร์

ควบคุมกองกำลังตำรวจ เพื่อปกป้องประชาชน

สาเหตุที่ประชาชนต้องร่วมกันกำกับไม่ให้ตำรวจกลายเป็นหน่วยรบในเมืองนั้น รศ.พวงทอง ระบุว่า เพื่อป้องกันรัฐใช้องค์กรตำรวจตกเป็นเครื่องมือคุกคามสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาหลายปี

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่า ขณะนี้ ตำรวจกำลังตกเป็นเครื่องมือของรัฐ ผลักให้สังคมไปสู่ความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบที่เป็นการนองเลือด

ภารกิจที่เป็นหัวใจของตำรวจในทุกประเทศก็คือการทำหน้าที่รักษากฎหมาย ปกป้อง รักษาสวัสดิภาพของประชาชน และรักษาสันติให้กับประชาชน ตำรวจไม่ใช่องค์กรทางการเมือง ไม่มีหน้าที่เลือกข้างว่าจะปกป้องคนสีใด กลุ่มใด

 


หมายเหตุ : พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ขอให้ความเห็นเรื่องจัดซื้ออาวุธ ตร. และข้อกังวลเรื่อง Police Militarization กับผู้สื่อข่าว หลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง