ความคืบหน้าหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจค้น บ้านพักของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ย่านรามอินทรา กรุงเทพมหานคร จากกการเข้าตรวจค้นรถยนต์หลายสิบคัน
ต่อมา กรมศุลกากรได้สั่งตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์ดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้จับกุมหรือเป็นผู้ที่มาประมูลรถยนต์หรูกับกรมศุลกากรหรือไม่
ล่าสุด นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ในจำนวนรถที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ครอบครองมีทั้งรถตลาดทั่วไปและรถหรู โดยเป็นรถที่มาจากกระบวนการประมูลรถของกลาง ของกรมศุลกากรจำนวน 2 คัน ได้แก่ รถปอร์เช่ และเบนท์เลย์ ในปี 2555 และ ปี 2558
ก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับใหม่ ในปี 2560 ซึ่งแก้ไข ระเบียบเกี่ยวกับ ระเบียบการประมูล โดยเปิดทางให้บริษัทประมูลสินทรัพย์เอกชน เข้ามาเป็นคนกลางในการดำเนินการ รวมทั้ง ลดสัดส่วนเงินรางวัลนำจับ ร้อยละ 20 สินบนร้อยละ 20 หรือ คดีละไม่เกิน 5 ล้านบาท
สำหรับกระบวนการจับกุมขบวนลักลอบนำเข้ารถหรู ไม่ว่าจะมาจากสายข่าว ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หรือ เจ้าหน้าที่ปราบปราม ศุลกากร ของกลางจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิด ฐานความผิดหลบเลี่ยงพิธีศุลกากร
เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว กรมศุลกากรจึงนำรถออกประมูลขายทอดตลาด และจ่ายเงินรางวัลนำจับตามระเบียบ หลังสิ้นสุดการขาย โดยในกฎหมายศุลกากรฉบับเก่า กำหนดการจ่ายเงินสินบนนำจับ ร้อยละ 30 เงินรางวัลร้อยละ 25 ของราคาประมูล
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ระหว่างปี 2554-2563 พ.ต.อ.ธิติสรรค์ เป็นเจ้าของสำนวนจำนวน 368 คัน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า นิสสัน เบนซ์ รวมทั้ง รถยนต์หรู ในจำนวนนี้ สามารถประมูลขายได้ จำนวน 363 คัน คิดเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อาจได้รับเงินสินบนนำจับไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
ปัจจุบัน กรมศุลกากรไม่ได้จัดการประมูลรถของกลาง มาตั้งแต่ปลายปี 2562 เนื่องจาก กรมขนส่งทางบก ออกประกาศไม่รับจดทะเบียรถจดประกอบ
ปัดตอบ "ผู้แจ้งความ-ผู้จับ" ทีมเดียวกัน
ผู้บริหารกรมศุลกากร ยังปฏิเสธ ที่แสดงความเห็น กรณีที่มีข้อสังเกตว่า ผู้แจ้งความนำจับ กับผู้จับเป็นทีมเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากขั้นตอนการรับแจ้งข้อมูลจากผู้แจ้งความนำจับ และขั้นตอนการจับกุม ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ สืบสวนหาเจ้าของ และตำรวจจะนำรถของกลางมาไว้ที่กรมศุลกากร พร้อมใบจับกุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบอีกครั้งว่า เป็นรถโจรกรรม รถคดียาเสพติด หรือ คดีฟอกเงินหรือไม่ เพราะกรมศุลกากรจะรับของกลางเฉพาะคดีหลบเลี่ยงพิธีศุลกากรเท่านั้น
แค่ปฏิบัติตามระเบียบใหม่ ก็ฮั้วยากแล้วครับ ไม่ว่าจะประมูลในศุลกากร ต่างจังหวัด หรือ ในส่วนกลาง แต่กรณีของ พ.ต.อ.ธิติสวรค์ เป็นการใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ซึ่งแค่รางวัลนำจับและสินบน ก็คุ้มแล้วครับ ส่วนรถของกลางที่มาจากคดียาเสพติด กรมศุลกากรไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ส.-ปปง.
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงข้อสังเกตว่า กระบวนการนำจับรถหลบเลี่ยงพิธีศุลกากร จะมีการฮั้วกับเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรเพื่อประมูลขายรถในราคาถูกนั้น ปัจจุบันทำได้ยากขึ้น เนื่องจาก การเปิดประมูลรถของกลาง เป็นแบบเปิดเผย โดยมีบริษัทเอกชน เป็นผู้ดำเนินการ มีการประกาศล่วงหน้า เพื่อให้สาธารณขน เข้าร่วมประมูลทั้งด้วยวาจา และผ่านระบบออนไลน์
พร้อมเปิดให้ผู้สนใจประมูล เข้าดูสภาพรถประกอบการตัดสินใจ โดยรถที่อยู่ในสภาพขาดอุปกรณ์สำคัญ เช่น สมองกล (ECU) จะไม่นำออกประมูลโดยเด็ดขาด หากพบหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่กรมฯ กระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแส ถึงอธิบดีกรมศุลกากรโดยตรง เพื่อเอาผิดทางวินัยต่อไป
ทั้งนี้ ระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินวินบนและรางวัล พ.ศ.2560 มีรายละเอียด ดังนี้