ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตากลุ่มนักรบต่างชาติ หลังตอลีบานเรืองอำนาจ

ต่างประเทศ
30 ส.ค. 64
19:54
523
Logo Thai PBS
จับตากลุ่มนักรบต่างชาติ หลังตอลีบานเรืองอำนาจ
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอส-เค ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องไปที่บทบาทของกลุ่มนักรบต่างชาติ ที่น่าสนใจ คือ มีนักรบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมกลุ่มนี้

วันนี้ (30 ส.ค.2564) ระบบป้องกันภัยซี-แรมของสหรัฐฯ สามารถสกัดจรวดที่พุ่งเป้าโจมตีสนามบินนานาชาติกรุงคาบูลได้ และความเคลื่อนไหวของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งโคราซาน หรือกลุ่มไอเอส-เค ชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทของนักรบต่างชาติด้วยเช่นกัน แม้ว่าจำนวนนักรบต่างชาติในไอเอส-เค จะยังไม่มีความชัดเจน แต่รายงานข่าวหลายชิ้นบ่งชี้ว่า กลุ่มไอเอส-เค มีสมาชิกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมด้วย

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานอ้างแหล่งข่าวระดับสูงด้านความมั่นคงในอินโดนีเซีย ว่า ชาวอินโดนีเซีย 7 คน เข้าร่วมกลุ่มไอเอส-เค ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระหลังจากกลุ่มตอลีบานยึดกรุงคาบูลสำเร็จ

ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า กลุ่มตอลีบานควบคุมตัวชาวมาเลเซีย 2 คน หลังจากเปิดฉากปะทะกัน โดยสำนักงานตำรวจมาเลเซียเร่งตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับพลเมืองที่เข้าร่วมกลุ่มไอเอส-เค

ขณะที่รายงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า จำนวนนักรบต่างชาติในอัฟกานิสถาน จำนวน 8,000-10,000 มาจากเอเชียกลาง รัสเซีย ปากีสถานและซินเจียงของจีน โดยกลุ่มตอลีบานและกลุ่มอัลกออิดะห์ ถือเป็นจุดหมายปลายทางหลักของกลุ่มนักรบต่างชาติในกลุ่มนี้

ด้านชาวต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อย สวามิภักดิ์ต่อไอเอส-เค หรือชื่นชอบในอุดมการณ์ แม้ว่าสมาชิกกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกของกลุ่มเตห์รีค อี ตอลีบาน ปากีสถาน (TTP)

การเรืองอำนาจของกลุ่มตอลีบาน อาจทำให้นักรบต่างชาติกลุ่มไอเอส-เคบางส่วนเดินทางกลับบ้านเกิด โดยหน่วยปราบปรามก่อการร้ายของอินโดนีเซียกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของนักรบกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ มีพลเมืองเข้าร่วมกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย โดยพลเมืองอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่มไอเอสมากที่สุดกว่า 560 คน รองลงมามาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ที่สำคัญทั้ง 3 ประเทศ ยังเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธสุดโต่งที่เป็นแนวร่วมของกลุ่มไอเอสอีกด้วย เช่น กลุ่มเจมาห์-อิสลามิยาห์ในอินโดนีเซีย หรือกลุ่มอาบูไซยาฟและกลุ่มมาอูเตทางใต้ของฟิลิปปินส์ การเดินทางกลับภูมิลำเนาของกลุ่มนักรบต่างชาติจึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค

ขณะที่ ผศ.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ชัยชนะของกลุ่มตอลีบานต่อกลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า กลุ่มติดอาวุธสุดโต่งที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส อย่างกลุ่มอาบูไซยาฟและกลุ่มมาอูเต เชื่อว่าชัยชนะของกลุ่มตอลีบานอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มดังกล่าวมาก เพราะมีเป้าหมาย อุดมการณ์ และยุทธวิธีที่แตกต่างกัน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง