กรณีข่าวพ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือผู้กำกับโจ้ ผู้ต้องหาคดีทำร้ายผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิต จากจากการขาดอากาศหายใจ และมีกระแสข่าวผู้กำกับโจ้ มีประวัติเคยรักษาโรคไบโพลาร์ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และต้องกินยารักษา โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องหาอาจนำประเด็นนี้มาใช้ต่อสู้ในชั้นศาล
วันนี้ (31 ส.ค.2564) นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ทนายคลายทุกข์” ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ว่า “อดีตผู้กำกับโจ้อ้างไบโพล่า เพื่อไม่ต้องรับโทษได้หรือไม่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 การที่ผู้กระทำความผิดจะไม่ต้องรับโทษต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เลย เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน
นายเดชา กล่าวอีกว่า แต่ถ้ารู้ผิดชอบอยู่บ้างบังคับตัวเองได้บ้างยังต้องรับโทษ แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ คือถ้าขณะกระทำความผิด รู้ผิดชอบบังคับตนเองได้ ต้องรับผิดเต็มตามที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถลดโทษ หรือไม่ต้องรับโทษ
แต่เห็นว่าต้องรับโทษ เพราะหากผู้กำกับโจ้เป็นไบโพลาร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่น่าจะแต่งตั้งเป็นผู้กำกับสภ.นครสวรรค์
รู้จักไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว
ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบาย โรคอารมณ์สองขั้วหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “โรคไบโพล่าร์” คือความผิดปกติของสมองที่ประชากรประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลกกำลังเป็นอยู่ โรคนี้มีอาการพื้นฐานอยู่ทั้งหมด 4 อาการ
อาการพื้นฐานเหล่านี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เรี่ยวแรง และความคล่องตัว และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบในชีวิตประจำวันรวมทั้งหน้าที่การงาน
โรคไบโพล่าร์ จะเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า Manic Episode คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของโรคไบโพลาร์ เป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการฟุ้งพล่าน ซึ่งจะเกิดสลับกับช่วงที่มีอาการซึมเศร้า ได้แก่ อยู่ไม่สุข ชอบทำงานหรือลุกเดินไปมา ความคิดแล่นเร็ว พูดเร็ว ความต้องการในการนอนน้อยลงหรือไม่อยากนอน หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ และอาจทำอันตรายต่อผู้ใกล้ชิด
ภาพ:สสส.
อาการเหล่านี้ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้วนี้ มีข้อสังเกตที่เป็นสัญญาณบอกได้ว่า เราหรือคนใกล้ตัวอาจจะเป็นโรคนี้ได้จาก 8 สัญญาณนี้ และควรพาไปเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
1. มีปัญหาในการทำงานให้สำเร็จ ผู้ป่วยไบโพล่าร์จะไม่มีปัญหาในการเริ่มต้นทำงานต่าง ๆ แต่เมื่ออารมณ์ของผู้ป่วยเริ่มเปลี่ยนแปลง การทำงานให้สำเร็จลุล่วงจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นงานต่าง ๆ ที่ยังค้างคา คือหนึ่งในสัญญาณที่กำลังบอกว่าคุณอาจจะเป็นโรคไบโพล่าร์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคไบโพล่าร์จะมีอาการนี้เพราะมีหลายคนที่สามารถเรียนรู้วิธีการจัดการตัวเอง และพัฒนาให้เป็นคนขยันในขณะที่กำลังเป็นไบโพล่าร์
2. มีอาการต่างๆของโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนของโรคไบโพล่าร์ ผู้ป่วยจะมีอาการลักษณะเดียวกับคนที่กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เช่น ความอยากอาหารลดลง มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่มีเรี่ยวแรง
3. พูดเร็ว คนส่วนใหญ่พูดเร็วขึ้นเมื่อรู้สึกตื่นเต้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ การพูดเร็วขึ้นเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคไบไพล่าร์ จะพูดแทรกคนอื่นและไม่สนใจบทสนทนาของคนรอบข้างมักเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอยู่บ่อย ๆ
4. หงุดหงิดง่าย ในบางกรณี คนที่เป็นไบโพล่าร์อาจจะมีอาการฟุ้งพล่านและภาวะซึมเศร้าพร้อม ๆ กัน เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จะหงุดหงิดง่ายมาก แต่ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์มักจะถึงจุดที่ความหงุดหงิดเริ่มส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ต่าง ๆ กับคนรอบข้าง
ภาพ:สสส.
ไฮเปอร์-พักผ่อนน้อย-ใช้สารเสพติดเสี่ยง
5. ใช้ยาเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ส่วนมากจะเริ่มต้นใช้ยาเสพติด กินเหล้า หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน เพื่อช่วยคลายอาการซึมเศร้าระหว่างที่อยู่ในช่วง ซึมเศร้า แต่พอใช้วิธีการแบบนี้บ่อย ๆ เพื่อบำบัดความซึมเศร้า มักจะนำไปสู่ภาวการณ์ติดสารเสพติด และยังเป็นอุปสรรคในการรักษาเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยาลดลง
6. อารมณ์ดีมากเกินไป (ไฮเปอร์) การแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีมากเกินไปอาจเป็นสัญญาณของโรคไบโพล่าร์ได้เช่นกัน อาการนี้จะเกิดขึ้นสลับกับภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะแค่รู้สึกค่อนข้างดี คล้าย ๆ กับคนปกติและสามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ
7. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเรื่องปกติที่โรคไบโพล่าร์จะมีผลข้างเคียงต่อการนอนของผู้ป่วย คนที่เคยมีประสบการณ์ของภาวะฟุ้งพล่าน จะมีปัญหาในการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอแต่จะไม่เคยรู้สึกเหนื่อยล้า ในทางกลับกัน ช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าจะนอนหลับมากขึ้นแต่ยังรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอยู่ดี
8. มีพฤติกรรมที่สม่ำเสมอ ไม่คิดหน้าคิดหลัง เวลาที่ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์อยู่ในช่วง ฟุ้งพล่าน มักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก จึงทำให้มักจะแสดงกิริยาโอ้อวด ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยแสดงออก โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมาในภายหลัง และอาจมีการแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่นกัน
ลักษณะพฤติกรรมและอาการต่างๆที่ได้ระบุไว้ข้างต้นคือสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ แต่อาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้ด้วยเช่นกันโรคไบโพล่าร์สามารถรักษาได้ หากได้รับการรักษาที่ตรงจุดและถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุข
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตร.ฝากขัง "ผกก.โจ้ -ลูกน้อง" - ค้านประกันตัว
คุมตัว "ผู้กำกับโจ้" ชี้จุดเกิดเหตุ เรียกครอบครัวผู้เสียชีวิตสอบเพิ่ม