วันนี้ (7 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การใช้มาตรการปิดโรงเรียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนทั่วโลก องค์การอนามัยโลก ประเมินว่า มาตรการนี้กระทบต่อเด็กนักเรียนไม่ต่ำกว่า 660 ล้านคน ซึ่งในขณะนี้ดูเหมือนวัคซีนจะเป็นกุญแจสำคัญในการกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค.ยูนิเซฟเรียกร้องให้โรงเรียนทั่วโลกกลับมาเปิดโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการใช้มาตรการปิดโรงเรียนมีราคาที่ต้องจ่ายสูง และกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก
แม้ว่าจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซูเอลา เคยประกาศแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กเล็กมาแล้ว แต่คิวบาถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่เดินเครื่องฉีดวัคซีนให้เด็กวัยหัดเดินอายุน้อยที่สุดเพียง 2 ปีเท่านั้น วัคซีนที่ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 2-11 ปี คือวัคซีนโซเบรานา 2 ที่พัฒนาขึ้นเอง
การขยับตัวของคิวบาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนตามปกติ หลังจากโรงเรียนส่วนใหญ่ของคิวบาปิดมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 เพื่อรับมือกับโควิด-19
ปัญหาคือนักเรียนต้องเรียนผ่านทางโทรทัศน์ เนื่องจากหลายครัวเรือนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต รัฐบาลคิวบาจะทยอยเปิดการเรียนการสอนตามปกติในเดือน ต.ค.และเดือน พ.ย.นี้ โดยนักเรียนทุกคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเท่านั้นจึงจะกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
ขณะที่สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป เริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเป็นหลัก โดยฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเมื่อเดือน มิ.ย. เนื่องจากในช่วงปลายเดือนนี้ ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องแสดงเอกสารแสดงสถานะด้านสุขภาพ เพื่อใช้บริการสถานที่ต่างๆ ส่วนอิตาลีงดเว้นการจองคิวฉีดวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้เด็กอายุ 12-18 ปีรับวัคซีนสะดวกมากขึ้น
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เด็กมีความจำเป็นหรือไม่ ยังคงเป็นข้อถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังจากเด็กได้รับวัคซีนชนิด mRNA
ความกังวลนี้ทำให้คณะที่ปรึกษาด้านวัคซีนอังกฤษ ยังไม่แนะนำให้เด็กอายุ 12-15 ปีฉีดวัคซีน นำไปสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็นในการฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ในการแถลงข่าวออนไลน์ หัวข้อ สถานการณ์เด็กติดเชื้อ เด็กกำพร้า ผลกระทบจากโควิด-19 และการเยียวยาฟื้นฟู จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง และประชากรวัยผู้ใหญ่เป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่เด็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อังกฤษ" ไม่แนะนำเยาวชน 12-15 ปี ฉีดวัคซีนโควิด-19
เตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นร.กลุ่มเสี่ยงสังกัด กทม. 21 ก.ย.นี้