ไทยติดโควิดเพิ่ม 14,176 คน หายป่วย 16,769 คน เสียชีวิต 228 คน

สังคม
8 ก.ย. 64
08:16
632
Logo Thai PBS
ไทยติดโควิดเพิ่ม 14,176  คน หายป่วย 16,769 คน เสียชีวิต 228 คน
ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 14,176 คน หายป่วยเพิ่ม 16,769 คน เสียชีวิต 228 คน การฉีดวัคซีนสะสม 36,635,271 โดส ขณะที่ กทม.ฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง 12-18 ปี เริ่ม 21 ก.ย.นี้

วันนี้ (8 ก.ย.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14,176 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 13,670 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 506 คน ผู้ป่วยตั้งแต่ 1 เม.ย.64 สะสม 1,293,656 คน หายป่วยเพิ่ม 16,769 คน หายป่วยสะสม 1,138,938 คน กำลังรักษา 142,644 คน เสียชีวิต 228 คน

ส่วนข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-6 ก.ย.64 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสม 36,635,271 โดส เป็นการฉีดเข็มที่ 1 สะสม 25,554,456 คน เข็มที่ 2 สะสม 10,475,325 คน เข็มที่ 3 สะสม 605,490 คน

เริ่ม 21 ก.ย. กทม.ฉีดไฟเซอร์ให้ นร.กลุ่มเสี่ยง 12-18 ปี

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กำลังเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยประชาสัมพันธ์แจ้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 โรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียน ที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี (กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง) เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2564

โดยให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน QR Code ตั้งแต่วันที่ 6-8 ก.ย.2564 ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ โดยมีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบนัดตรวจสถานพยาบาล ใบรับรองความพิการ หรือเอกสารใด ๆ ที่ระบุว่าเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด

ภาพ : prbangkok

ภาพ : prbangkok

ภาพ : prbangkok


ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีนโดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยง และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้ ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12 - 13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 13 - 15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 15-18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม

ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4. โรคไตวายเรื้อรัง 5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6. โรคเบาหวาน 7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนสำหรับเด็ก : ทางออกสู่การเปิดเรียน ?

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง