ต้นสัปดาห์ อธิบดีกรมการแพทย์ แจ้งว่าจะปิดศูนย์แรกรับ อาคารนิมิบุตร ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และจะปิดโรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานี ในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.
มีคำถามตามมาว่า "สถานการณ์โควิดดีขึ้นแล้วจริงๆ หรือ" เพราะที่ผ่านมา โรงพยาบาลบุษราคัม ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีส้มและสีแดง อยู่จำนวนมาก แล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไปรักษาที่ไหน
ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถาม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อหาคำตอบว่า ต่อไปนี้หากปิดโรงพยาบาลสนามทั้งสองแห่งแล้ว หากมีผู้ป่วยสีเหลืองเข้มและสีแดง จะทำอย่างไร
Q: สถานการณ์เตียงใน กทม.เป็นอย่างไรบ้าง
นพ.สมศักดิ์ : ขณะนี้เตียงในโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพมหานคร คลายตัวมากขึ้น เตียงของผู้ป่วยกลุ่มสีแดง สามารถแอดมิตได้ภายในวันเดียวแล้ว ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เตียงใน Hospitel ว่างเยอะ เริ่มคลายตัวสามารถแอดมิตผู้ป่วยภายในวันเดียวได้แล้วเช่นกัน
ที่ศูนย์แรกรับและส่งต่ออาคารนิมิบุตร จากที่เคยแอดมิตสูงสุดวันละ 350 คน คัดกรองแรกรับประมาณวันละ 100 กว่าคน ตอนนี้ (ข้อมูลวันที่ 7 ก.ย.64) แอดมิตเหลือเพียง 5 คน ขณะที่การคัดกรองตรวจ RT-PCR เหลือ 16 คนต่อวัน
Q: ทำไมปิดศูนย์แรกรับ อาคารนิมิบุตร
นพ.สมศักดิ์ : จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาในศูนย์แรกรับ อาคารนิมิบุตร มีจำนวนน้อยลง ประกอบกับมีการสร้างโรงพยาบาลสนาม ตรงข้ามที่โรงพยาบาลเลิดสิน จำนวน 200 เตียง จึงเห็นว่า ควรถ่ายเทคนจากนิมิบุตรไปที่เลิดสิน เลยดีกว่า ซึ่งจะเปิดบริการแล้วสิ้นเดือนนี้ จึงกำหนดปิดศูนย์แรกรับ อาคารนิมิบุตรในวันที่ 30 ก.ย.2564
Q: ทำไมปิดโรงพยาบาลบุษราคัม
นพ.สมศักดิ์ : โรงพยาบาลบุษราคัม เราเช่าสถานที่ของเมืองทองธานี ซึ่งทำสัญญาไว้ถึงสิ้นเดือน ต.ค.2564 สถานการณ์ผู้ป่วยดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องต่อสัญญาแล้ว และก่อนหน้านี้ปิดไปแล้ว 1 ฮอลล์ เพราะการรับผู้ป่วยไม่มากแล้ว จากเดิมเคยรับผู้ป่วยแอดมิตสูงสุด วันละกว่า 3,000 คน ตอนนี้เหลือ 700 คนเท่านั้น
ประกอบกับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่แยกกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยได้รับอุปกรณ์และยาทันที ได้รับติดตามและดูอาการจากหมออย่างรวดเร็ว และมีอาหารให้ครบ 3 มื้อ ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ไม่ขยับไปเป็นกลุ่มสีเหลือง ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลบุษราคัมจึงสามารถปิดได้
Q: ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จะส่งต่อที่ไหน ถ้าปิดโรงพยาบาลบุษราคัม
นพ.สมศักดิ์ : เราบริหารเตียงกลุ่มสีเหลืองกับสีแดง ร่วมกับ กทม. โรงเรียนแพทย์ และภาคเอกชน เมื่อต้องปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองจะไปอยู่ที่ Hospitel เพราะขณะนี้กระทรวงให้ Hospitel ทุกแห่ง ปรับการดูแลให้ครอบคลุมผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมากขึ้น เช่น มี 100 ห้อง ต้องเตรียมห้องไว้รองรับผู้ป่วยสีเหลือง 20 ห้อง
Q: ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง รักษาตัวที่ไหน
นพ.สมศักดิ์ : ในกลุ่มผู้ป่วยสีแดง ยังรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ทุกโรงพยาบาล มีการปรับห้องรองรับผู้ป่วยสีส้มเข้ม ๆ และสีแดง มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว
Q: ปิดโรงพยาบาลบุษราคัม เพราะปัญหาการบริหารจัดการหรือไม่
นพ.สมศักดิ์ : ไม่เกี่ยวข้องเลย การบริหารต้องมีการปรับปรุงตลอดอยู่แล้ว อย่างที่บอกบุษราคัมมีค่าใช้จ่ายต้องเช่าสถานที่ ถ้าผู้ป่วยมีน้อยก็จะไม่คุ้ม ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองมีการกระจายสถานที่รองรับแล้วคือ Hospitel ทุกแห่งแล้ว และ CI plus ของ กทม.จึงปิดบุษราคัมได้
Q: โรงพยาบาลสนามของ กทม.จะปิดด้วยหรือไม่
นพ.สมศักดิ์ : โรงพยาบาลสนามของ กทม. ยังไม่ปิดในตอนนี้ กทม.มีศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation :CI) และศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามแผนของ กทม. ผู้ป่วยลดลง 3,00 คน จะปิด CI แล้วเหลือเฉพาะ CI plus แต่ถ้าผู้ป่วยต่ำกว่า 2,000 คน ก็จะปิด CI plus แล้วเหลือเฉพาะโรงพยาบาลสนามอย่างเดียว
ภาพ : กรมการแพทย์
Q: ทำอย่างไร หากหลังคลายล็อกมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม
นพ.สมศักดิ์ : ทุกวันนี้ กทม. ,กรมการแพทย์ ,โรงเรียนแพทย์ ,เอกชน ,ทหาร ,ตำรวจ ประชุมประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ยืนยันมีการเตรียมความพร้อมขั้นสูงสูด ซึ่งยังย้ำว่า โควิดทำลายล้างทุกทฤษฎี เราเตรียมพร้อมตลอดเวลา ประชุมกันตลอด ยอมรับว่าหวั่นใจอยู่ ว่าเดือน ต.ค. และ พ.ย. จะมีผู้ป่วยกลับมาหรือไม่ แต่ศักยภาพตอนนี้ยังรับได้ CI ใน กทม.ตอนนี้มีเตียงว่างประมาณ 7,000 เตียง มีผู้ป่วยแอดมิตกว่า 1,000 เตียงเท่านั้น ยืนยันเรามีความพร้อม
Q: จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ลดลงจริงหรือไม่
นพ.สมศักดิ์ : ยืนยันว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจริง ไม่งั้นไม่กล้าปิดศูนย์แรกรับ อาคารนิมิบุตร ขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยต้องการเตียงแบบด่วน ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ถ้าจำได้ผมเป็นคนแรกที่ออกมาบอกว่า เตียงไม่พอ ถ้าไม่ไหวคือบอกไม่ไหว