ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบเด็กกำพร้าจากโควิด-19 เกือบ 400 คน เน้นให้ครอบครัวดูแลหลังสูญเสีย

สังคม
9 ก.ย. 64
15:17
2,143
Logo Thai PBS
พบเด็กกำพร้าจากโควิด-19 เกือบ 400 คน เน้นให้ครอบครัวดูแลหลังสูญเสีย
โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำเด็กติดเชื้อรวม 142,870 คน ซึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบเด็กกำพร้าสูงสุด และจำนวน 80% ของเด็กติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาส

วันนี้ (9 ก.ย.2564) ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เด็กติดเชื้อและเด็กกำพร้าจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 4 ก.ย.2564 มีเด็กติดเชื้อสะสมจำนวน 142,870 คน แบ่งเป็น กทม. 31,111 คน และส่วนภูมิภาค 111,759 คน โดยพื้นที่ที่พบเด็กติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี สมุทรสาคร และลพบุรี ตามลำดับ

และแม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 สถานการณ์การติดเชื้อในภาพรวมจะเริ่มลดลงทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด แต่จำนวนการติดเชื้อรายวันก็ยังเกินวันละ 10,000 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเดือน ส.ค.เฉลี่ยรายวันยังอยู่ที่ 200 คน ซึ่งหากผู้เสียชีวิตเป็นพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็ก ก็จะส่งผลต่อจำนวนเด็กกำพร้าเช่นกัน

จากการสำรวจของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ย.2564 มีจำนวนเด็กกำพร้าสะสมมากถึง 369 คน ในจำนวนนี้เป็นกรณีกำพร้าบิดามากที่สุด 180 คน กำพร้ามารดา 151 คน กำพร้าทั้งบิดาและมารดา 3 คน และกำพร้าผู้ปกครอง (เครือญาติ) 35 คน

ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ พบเด็กกำพร้ามากที่สุด 131 คน โดยจังหวัดที่พบเด็กกำพร้าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ตามลำดับ รองลงมา คือภาคกลางจำนวน 99 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 92 คน ภาคเหนือ 40 คน และ กทม. 7 คน และหากพิจารณาเป็นช่วงอายุ พบว่าร้อยละ 71.54 อยู่ในช่วงอายุ 6 - 18 ปี และร้อยละ 33.06 เป็นเด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 6 ปี)

 

80% ของเด็กที่ติดเชื้อ อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาส

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ภายใน 1 เดือน ตัวเลขเด็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจาก 60,000 กว่าคน เป็น 140,000 คน และในจำนวนนี้มากถึง 80% อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ยากจน ด้อยโอกาส และพบมากในชุมชนแออัด ขณะที่เด็กกำพร้ามากกว่า 370 คน ที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่ ก็ยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมฐานะทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสูญเสียเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน

วันที่เราส่งพวกเขากลับบ้านหลังจากรักษาจนหาย เราจะพบเห็นคลื่นปัญหาที่ต้องเผชิญต่อไปคือความยากจน 

เพราะพ่อแม่ที่ป่วยไข้ก็ตกงาน ไม่ได้กลับไปทำงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินซื้ออาหาร ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่นับเรื่องการเรียนออนไลน์ ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีความพร้อมใดๆ และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับมาเรียนอีก

ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การที่เด็กๆ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ผู้ดูแลหลักเสียชีวิต ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจต่อเด็กค่อนข้างมาก เด็กจะมีภาวะความโศกเศร้าเสียใจ ซึ่งจะมีเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ปรับตัวและก้าวผ่านได้

ถ้าหากเด็กคนนั้นได้รับการดูแลที่อบอุ่น มั่นคง จากผู้ดูแลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นจากสมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่หรือจากเครือญาติ แต่หากไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่เหมาะสม จะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

เด็กกำพร้า 369 คน เน้นการดูแลโดยใช้ครอบครัวเป็นฐาน

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 4,222 คน โดยจำนวน 41.19% ช่วยเหลือด้วยการให้คำแนะนำปรึกษาเบื้องต้น, 24.90% ช่วยเหลือด้านการเงิน และจำนวน 20.95% ช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภค ขณะที่ในด้านสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการประสานส่งตัวเข้าตรวจเชื้อและรับการรักษา ทั้งในรูปแบบการรักษาตัวที่บ้าน ศูนย์พักคอย และโรงพยาบาล

ส่วนเด็กกำพร้า 369 คน เน้นการดูแลโดยใช้ครอบครัวเป็นฐาน โดยมีเด็กจำนวน 367 คนที่ได้รับการดูแลในรูปแบบครอบครัว แบ่งเป็นการอยู่กับพ่อหรือแม่ 231 คน, อยู่กับครอบครัวเครือญาติ 133 คน และอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์อาสาสมัคร 3 คน ส่วนเด็กอีก 2 คนอยู่ในสถานสงเคราะห์เพื่อจัดหาครอบครัวทดแทน โดยข้อมูลเด็กกำพร้าทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก CPIS เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลและการจัดบริการให้แก่เด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 พม.ยังได้เตรียมงบประมาณรองรับการจัดสวัสดิการให้กับเด็กและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนครอบครัวและครอบครัวอุปถัมภ์ให้ได้รับบริการ เพื่อสนับสนุนการดูแลเด็ก โดยคาดว่าจะมีเด็กได้รับความช่วยเหลือประมาณ 1,600 คน นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุนการให้บริการสวัสดิการเด็กในครอบครัวยากจนอีกด้วย

“โมเดล 1 บ้าน 1 โรงพยาบาล” เยียวยาจิตใจเด็ก

ทั้งนี้ ได้เตรียมมาตรการสร้างพื้นที่พักพิงทางจิตใจและสังคม ร่วมกัน ระยะสั้นคือการปฐมพยาบาลทางจิตใจ สำหรับเด็กที่มีความเข้มแข็งทางใจอยู่แล้วให้ฟื้นคืน โดยอาจไม่จำเป็นต้องพบนักจิตวิทยาเด็ก ระยะกลาง คือเด็กที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับความสูญเสีย กลุ่มนี้ต้องนำสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบทันที ส่วนในระยะยาว หมายถึงการฟื้นฟูทางสังคมและจิตใจร่วมกัน ด้วยการติดตามจากเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเด็กในการปรับตัวและเป็นที่ปรึกษาให้กับครอบครัวอุปถัมภ์

ตอนนี้มีการทำงานภายใต้ โมเดล 1 บ้าน 1 โรงพยาบาล เป็นการจัดโครงสร้างการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายบ้านพักเด็กและครอบครัว รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด ในการสนับสนุนการทำงาน

เร่งฉีดวัคซีนให้เด็กกลุ่มเปราะบาง ก่อนเปิดเทอม

การเร่งฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอของ ศ.สมพงษ์ จิตระดับ โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับเด็ก 4 ล้านคนนั้นมาถูกทางแล้ว แต่ภายใต้เงื่อนไขการเปิดเทอมครั้งต่อไปในเดือน พ.ย.นี้ เห็นว่าควรเน้นการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบางก่อน

สำหรับเด็กกำพร้า เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา ครอบคลุมทั้งกลุ่มที่สูญเสียพ่อแม่เพราะการติดเชื้อโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ต้องให้คำแนะนำแก่ครูและโรงเรียนในการเตรียมความพร้อม เพื่อดูแลเด็กนักเรียนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือสมาชิกครอบครัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยแม้เด็กจะกลับมาเข้าห้องเรียนได้ แต่สภาพจิตใจอาจยังไม่พร้อมสมบูรณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง