เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 นายสานิตย์ ศรีทวี นายอำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า อ.เสิงสาง 2 สัปดาห์พบผู้ป่วย 14 คน เสียชีวิต 3 คน และหูหนวกถาวร 2 คน โดยเกิดจากการรับประทานหมูดิบ ทั้งเมนูลาบดิบ ก้อยดิบ ตับลวก ตับหวาน ส้มหมู แหนมหมู หมูกระทะ และเชื้อจากหมูผ่านผิวหนังที่เป็นแผล
สำหรับอาการที่พบในระยะเวลาหลังรับประทาน 3 ชั่วโมง ไม่เกิน 3 วันจะมีอาการ 1 ใน 3 อย่าง ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา ได้แก่ 1.ไข้ 2.อาเจียน,ถ่ายเหลว 3.ปวดศีรษะ หากมาช้าเกิน 3 วันอาจเกิดอาการชัก หูหนวกถาวร และเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน คนเลี้ยงหมูต้องสะอาดทั้งคอกและเขียง คนปรุงต้องสวมถุงมือก่อนจับหมู และคนบริโภคห้ามรับประทานหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หมูกระทะต้องแยกตะเกียบย่างกับกะเกียบกิน
ในวันเดียวกัน นายอำเภอเสิงสางพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเสิงสาง สาธารณสุขอำเภอเสิงสาง ปศุสัตว์อำเภอเสิงสาง ตำรวจ ปลัดฝ่ายมั่งคง กำนัน ได้จัดประชุมปรึกษาหารือแนวทางการป้องกันโรคระบาดสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (โรคไข้หูดับ) เพื่อกำหนดมาตรการงดกินหมูดิบและสัมผัสหมูดิบ
ภาพ : สานิตย์ ศรีทวี
ทั้งนี้ เนื่องจากอาจจะติดเชื้อ โดยเฉพาะเขียงหมูที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ล่าสุด พบผู้ป่วยไข้หูดับ จำนวน 15 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน
สถิติคนไทยป่วยโรคไข้หูดับ
ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ของโรคไข้หูดับ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -11 มิ.ย.2564 พบผู้ป่วยแล้ว 243 คน เสียชีวิต 11 คน
ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยที่สุดคือ ภาคเหนือ (พบผู้ป่วย 162 คน คิดเป็นร้อยละ 66 ของผู้ป่วยทั้งหมด) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และสุโขทัย ตามลำดับ ขณะที่ปี 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 342 คน เสียชีวิต 12 คน
รู้จักอาการโรคไข้หูดับ
สำหรับโรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ
- เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมู ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
- การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย
หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบเพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้
ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
2 วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 1.ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ขอให้แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน
2.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง