ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตลาดแรงงาน ยังอ่อนไหว

เศรษฐกิจ
15 ก.ย. 64
19:16
277
Logo Thai PBS
ตลาดแรงงาน ยังอ่อนไหว
ถ้า ศบค.อนุมัติตามที่กระทรวงท่องเที่ยวเสนอเปิดท่องเที่ยว 5 จังหวัด อาจจะเป็นความหวังว่าการจ้างงานจะกลับมา ซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดแรงงานกลุ่มท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ธุรกิจอื่นที่รับผลกระทบจากมาตรการคุมการระบาดกำลังค่อยๆ ฟื้น แต่ยังฟื้นแบบช้าๆ

วันนี้ (15 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางภาครัฐที่ตอนนี้เริ่มผ่อนปรนมากขึ้น พูดถึงการเปิดประเทศหนาหูขึ้น และปริมาณวัคซีนที่คาดหวังว่าจะมีมากในเดือนนี้ เป็นสัญญาณให้เศรษฐกิจมองไปข้างหน้า ขับเคลื่อนไปได้ ในลักษณะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากไม่มีอุบัติเหตุอีก การจ้างงานจึงถูกมองว่าพ้นจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของตลาดแรงงานออกเป็น 3 แบบ แบบแรก คือฟื้นตัวได้ดี ตามการส่งออกที่ขยายตัวดีชัดเจน รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กลุ่ม 2 คือค่อยๆ ฟื้นตัว เมื่อคลายล็อก เช่น ค้าส่งค้าปลีก ร้านอาหาร ขนส่ง แต่อีกกลุ่มคือธุรกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนในการฟื้นตัว แม้จะเปิดประเทศ คือธุรกิจในข่ายของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานยังอ่อนแออยู่มาก แม้จะมองว่าแรงงานในธุรกิจบางกลุ่มเริ่มดีขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการ แต่ไส้ในอาจไม่ใช่ ทุกคนจะโชคดีได้กลับมาทำงานเหมือนเดิม

ในด้านหนึ่ง เมื่องานในประเทศมีข้อจำกัด มีแรงงานจำนวนไม่น้อยสนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ แต่เมื่อสถานการณ์ติดเชื้อของไทยปะทุขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี โอกาสจึงถูกปิดลงไปโดยปริยาย

จากปรากฏการณ์ทั้งหมด สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานของไทย จากตัวเลขแรงงานที่เข้าระบบประกันสังคมช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ค.2564 หรือช่วง 7 เดือนแรก อยู่ที่ 70,000 คนเศษเท่านั้น แม้ภาครัฐจะให้ข้อมูลว่าการจ้างงานเพิ่มมีหลายแสนอัตรา และแรงงานในระบบประกันสังคมเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 หายไป 600,000 กว่าคน หรือหายไปประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

แม้ข้อมูลทางการระบุว่า จำนวนคนว่างงาน หรือไม่มีงานทำเลย ในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 730,000 คน แต่คนที่มีงานทำแต่ทำไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเรียกว่าเสมือนว่างงานกลับมีสูงถึง 3,500,000 คน แรงงานเหล่านี้แฝงอยู่ในตลาดแรงงาน และ 1 ใน 5 ของคนกลุ่มนี้ ประมาณ 700,000 คน ทำงานใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 1 ชั่วโมง สภาพจริงก็ไม่ต่างจากคนว่างงานนั่นเอง

ภาคเอกชนเสนอว่าการผลักดันเศรษฐกิจและตลาดแรงงานฟื้นอย่างยั่งยืน คือผลักดันการบริโภคให้กลับมาฟื้นตัว และต้องไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุระบาดระลอกใหม่ และเกิดการล็อกดาวน์ครั้งใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง