วันนี้ (17 ก.ย.64) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นำทีมเจ้าหน้าที่ชุดศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบพื้นที่ลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่เอกชน ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม ลพบุรี
นายอรรถพล กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมีและกากอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ของเอกชนมีประมาณ3-4ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ มีการนำถังบรรจุของเสียเคมี หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขนาด 200 ลิตร ประมาณ 300-400 ถังมาทิ้งในบ่อดินเก่า
ลักษณะของถังที่ตรวจพบมีการบีบอัดจนของเสียไหลเจิ่งนองไปทั่วบริเวณโดยรอบ และเคมีวัสดุที่ไม่ใช้แล้วบางส่วนเข้าข่ายเป็นของเสียอันตราย เพราะสามารถติดไฟได้ ส่วนพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนั้น อยู่ใกล้เคียงกับบ่อน้ำที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงใช้ประโยชน์
พบว่าน้ำจากพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมี หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึมลงไปในบ่อน้ำที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงใช้ประโยชน์แล้ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนได้รับความเดือดร้อน
อ่านข่าวเพิ่ม แกะรอยเอกชนลอบทิ้งถังสารเคมีอันตราย 300 ถัง
แจ้งเอาผิด 5 กฎหมายทั้งอาญาและแพ่ง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ ศปก.พล. ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรพัฒนานิคม เพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะการลักลอบทิ้งของเสียเคมีมีความผิดตามกฎหมาย 5 ฉบับ ซึ่งต้องดำเนินคดีทั้งอาญา และทางแพ่ง
วันนี้พยายามใช้ กม.ทุกฉบับ ใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้ที่ทำผิดให้ได้
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ดิน แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดินปนเปื้อน ต้องบังคับใช้กฎหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและการฟื้นฟู ทั้งนี้อยากให้หากผู้ใดพบเห็นการลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่ ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี แจ้งเบาะแสมาที่เจ้าหน้าที่
สำหรับความผิดตามใน 5 กฎหมาย มีดังนี้
- พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวก 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 12) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ฐานครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ขึ้นอยู่กับว่ากากอุตสาหกรรมที่ตรวจพบเป็นวัตถุอันตรายชนิดใด ต้องระวางโทษสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ความผิดฐานเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 19) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 33 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกอบด้วย ความผิดฐานดำเนินโครงการก่อนที่รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ100,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น และต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่าย หากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของเอกชน หรือมีความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 และมาตรา 97