วันนี้ (21 ก.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีความนิยมในการฉีดสารเติมเต็ม หรือสารแปลกปลอมเข้าสู่ผิวหนัง เพื่อเสริมความงาม โดยสารแปลกปลอมนั้นอาจเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สำหรับ “ทา” ที่ผิวหนังชั้นบน แต่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วยการนำไปฉีดเข้าผิวหนัง หรือสารที่ใช้สำหรับ “ฉีดเข้าหลอดเลือด” โดยตรง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมา
- เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีอาการผิวหนังบวม แดง กดเจ็บที่ผิวหนัง หรือเป็นหนอง อาจเกิดขึ้นทันทีภายในไม่กี่สัปดาห์หลังฉีด หรืออาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว
- เกิดก้อนที่ใต้ชั้นผิวหนัง ที่เรียกว่า กรานูโลม่า (Granuloma) มีอาการบวมเป็นก้อน อาจมีหรือไม่มีการอักเสบร่วมด้วยก็ได้
- เกิดภาวะตีบตันของเส้นเลือด อาจมีอาการปวดหรือชาบริเวณที่ฉีด หรือบริเวณใกล้เคียง
- บริเวณที่ฉีดมีสีผิดปกติ อาจม่วงช้ำ หรือขาวซีด
- มีอาการแสบ แห้ง แดงที่ผิวหนังมากกว่าปกติ ที่บริเวณที่รับการรักษา
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนฉีด โดยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดว่าผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่, ตรวจสอบแพทย์ผู้ที่จะทำการรักษาว่าได้รับใบอนุญาตหรือไม่, ตรวจสอบสถานพยาบาลว่าได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดว่าเป็นของใหม่ เปลี่ยนทุกครั้งก่อนการรักษาในผู้ป่วยทุกคนหรือไม่
ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง แนะนำว่า หากมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาทันที ส่วนการดูแลผิวพรรณที่ถูกวิธี แนะนำให้ใช้ครีมกันแดด หลบแดด และรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เหมาะสม หากต้องการปรึกษาเรื่องผิวพรรณ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง