ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผีเสื้อของไทยที่หายไป?

สิ่งแวดล้อม
21 ก.ย. 64
09:44
7,496
Logo Thai PBS
ผีเสื้อของไทยที่หายไป?
กรณีชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จับและยึดการลักลอบขายผีเสื้อคุ้มครองหายากใกล้สูญพันธุ์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นการจับและได้ของกลางผีเสื้อหายากถึง 6 ชนิดในรอบนับสิบปี ทำให้เกิดความตื่นตัวในแวดวงนักกฎีวิทยาอีกครั้ง

ภาพผีเสื้อขยับปีกในกรอบรูปขนาดใหญ่ ซึ่งนักกีฏวิทยา ระบุว่ามันคือผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ของกลางในคดีสัตว์ป่าคุ้มครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2548 

หากพวกมันยังมีชีวิตในธรรมชาติ นั่นหมายความว่า เราจะเห็นผีเสื้อโบยบินในผืนป่าบนยอดดอยสูงในพื้นที่ภาคเหนือของไทยนับ 1,000 ตัว แต่น่าเสียดายว่าเราไม่มีโอกาสพบเห็นตัวมันมานานมากแล้ว

ถ้าจะบอกว่ากลุ่มผีเสื้อ แมลงคุ้มครองทั้ง 20 ชนิดที่อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองของไทย ทุกตัวอยู่ในสถานะหายากมาก ไม่เจอตัวในธรรมชาติมานานแล้ว โดยเฉพาะผีเสื้อภูฐาน หรือผีเสื้อสมิงเชียงดาว ที่มีรายงานการพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

"ผีเสื้อภูฐาน" ไม่พบตัวนาน 30 ปี 

ดร.แก้วภวิกา รัตนจันทร์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านกีฎวิทยาป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์ผีเสื้อและแมลงคุ้มครองในไทย

เธอบอกว่า ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีแมลงคุ้มครองจำนวน 20 ชนิด ประกอบด้วย ผีเสื้อ 16 ชนิด ด้วงปีกแข็ง 4 ชนิด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานภาพหายากใกล้สูญพันธุ์เกือบทั้งหมด แม้แต่นักกีฎวิทยาก็ยังไม่เคยเจอตัวมานานแล้ว

ทุกวันนี้ถ้าดูจาก 20 ตัว ที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง ที่ถือว่าวิกฤต และไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาแล้ว 30 ปี ก็คือ ผีเสื้อภูฐาน หรือ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไม่ได้เจอมานานแล้ว สมัยก่อนตามคำบอกเล่าของอาจารย์เคยมีแถวดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทำให้นักกีฎวิทยากังวลว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

เช่นเดียวกับผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ดร.แก้วภวิกา บอกว่า เป็นแค่คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่เคยบอกว่าพบตัวในป่าลึก แต่ไม่รู้พิกัด แม้แต่นักกีฎวิทยา กรมอุทยานฯ ก็ยังไม่มีใครพบตัวผีเสื้อชนิดนี้ มานานแล้วเช่นกัน ดังนั้น ถ้าบอกว่าตัวไหนหายาก คิดว่าหายากน่าจะเกือบทั้ง 20 ชนิด

รู้จักแมลงคุ้มครอง 20 ชนิดของไทย

ปัจจัยผีเสื้อสูญพันธุ์-ถิ่นอาศัยถูกคุกคาม-ถูกจับสะสม

นักกีฎวิทยา บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้แมลงคุ้มครอง โดยเฉพาะกลุ่มผีเสื้อและด้วงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะความเป็นสัตว์หายาก ด้วยตัวมันเอง ประชากรที่ลดลงแล้ว ที่สำคัญสัตว์กลุ่มนี้ ต้องมีแหล่งอาศัยเฉพาะถิ่นและพืชอาหาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตอยู่ และการขยายพันธุ์ของแมลงคุ้มครอง

สภาพพื้นที่ป่าบางแห่ง มีความอุดมสมบูรณ์ลดลง บางแห่งถูกบุกรุกทำลาย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของแมลงบางชนิด จึงไม่มีรายงานการพบตัวมานาน

 

นอกจากนี้การถูกลักลอบจับเพื่อไปสะสมและจำหน่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมลงสวยงามหลายชนิดถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ แต่ละตัวจะมีลักษณะเฉพาะตัว บวกกับความหายาก จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาด

อย่างผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ด้วยเชฟปีกล่างจะมีส่วนหางที่พลิ้วเวลาบิน และโทนสีธรรมชาติ มีความคลาสสิกในตัวเอง ส่วนด้วงดินคีมยีราฟ ตัวนี้จะมีเชฟขาที่ยาว และตัวมีสีแวววาว หรือแม้แต่ตัวด้วงดินปีกแผ่น จะมีเอกลักษณะตัวคล้ายกับไวโอลีน ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสม

 

ดร.แก้วภวิกา บอกว่า ตอนนี้สถานภาพของผีเสื้อภูฐานที่น่าจะสูญพันธุ์ และผีเสื้อไกเกอร์อิมพีเรียล ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ได้มีการขึ้นบัญชีรายการหายากใกล้สูญพันธุ์ไว้ ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 

 

มูลค่าการซื้อขายแพงแค่ไหน?

นักกีฎวิทยา ยอมรับว่าไม่สามารถประเมินราคาค้าขายของแมลงคุ้มครองแต่ละชนิดได้ เพราะไม่มีการจับยึดในคดีแบบนี้มานานแล้ว เพิ่งมีในรอบนับสิบปี จากการจับในคดีเชฟร้ายอาหารที่นำซากผีเสื้อคุ้มครอง 6 ชนิดหากยากมาขายรวม 8 ซากมาประกาศขายออนไลน์ และทางชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง สามารถจับได้ครั้งนี้ มีการประเมินมูลค่าไว้ที่จำนวน 17,400 บาท

เนื่องจากทั้ง 8 ซากที่อยู่ในกรอบที่นำมาโพสต์ขาย มีผีเสื้อนางพญาพม่า ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ ผีเสื้อหางดาบปีกโค้ง ผีเสื้อไกเชอร์อิมพีเรียล ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง จำนวน 1 ซาก ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก ซึ่งเป็นสัตว์ในบัญชีคุ้มครองทั้งหมด

ไม่เจอคดีมานานแล้ว อย่างกรณีผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ที่นำมาใส่กรอบโชว์ขนาดใหญ่ก็เป็นของกลางในดคีปี 48 ที่สิ้นสุดแล้ว แต่คาดว่ามูลค่าเฉียดล้านบาท ซึ่งว่ายังมีการค้าขายกันอยู่ในกลุ่มนักสะสม 

เมื่อถามว่ายังมีการศึกษาวิจัยแมลงสวยงามชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ดร.แก้วภวิกา กล่าวว่า ขณะนี้กังวลกลุ่มแมลงสวยงามที่อยู่ท้ายกฎกระทรวงการนำเข้า-ส่งออก ต้องขออนุญาต เพราะเริ่มหายากแล้ว เช่น กลุ่มด้วงดิน กลุ่มผีเสื้อหางติ่งสวยงามในวงศ์ PAPILIONIDAE 

เสน่ห์ในการวิจัยผีเสื้อ

นักกีฎวิทยา กรมอุทยานฯ บอกว่า ความสนใจที่ต้องศึกษาแมลง เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้ตัว แค่ในบ้านก็เจอตัวแล้ว และแต่ละตัวจะมีความเฉพาะในรูปลักษณ์ และความสวยงาม ซึ่งในภารกิจของนักกีฏวิทยา ต้องศึกษาสถานภาพของผีเสื้อ และแมลงชนิดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์

เลี้ยงผีเสื้อผิดกฎหมายหรือไม่?

ส่วนข้อกังวลที่พบว่าผู้ปกครองฮิตให้ลูกเลี้ยงหนอนผีเสื้อ มีการนำสายพันธุ์ต่างประเทศเข้าแล้วหรือไม่ นักกีฎวิทยา ระบุว่า สายพันธุ์ที่เด็ก ๆ นิยมเลี้ยง และมีจำหน่ายเป็นชุดเลี้ยง เพื่อการศึกษาวงจรชีวิตผีเสื้อ ส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ หาพืชอาหารได้ง่าย เช่น กลุ่มผีเสื้อหนอนมะนาว ผี เสื้อใบรักธรรมดา ผีเสื้อจรกา และผีเสื้อถุงทองธรรมดา

ไม่น่ากังวลกับผีเสื้อที่เด็ก ๆ นำมาเลี้ยง ความเห็นส่วนตัวกลับมองว่าการใช้ผีเสื้อเป็นโมเดล จะช่วยปลูกฝังให้เด็กรักสัตว์และธรรมชาติ

ส่วนเรื่องการนำเข้าผีเสื้อสายพันธุ์ต่างประเทศจะเป็นเอเลี่ยนสปีชีร์หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผ่านทางกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้มาขออนุญาตนำเข้าผีเสื้อที่มีชีวิต มีเพียงขออนุญาตนำเข้าซากผีเสื้อต่างประเทศ จะนำมาใช้ในการสะสมเป็นที่ระลึก แต่ยังย้ำว่าต้องเฉพาะที่อนุญาตท้ายกฎกระทรวงเท่านั้น

ผีเสื้อในกทม.หายไปจริงหรือไม่?

นักกีฎวิทยา กรมอุทยานฯ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในเขตเมืองผีเสื้อที่เราเคยพบเห็นได้ทั่วไปหายากมากขึ้น ปัจจัยอาจมาจากพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะที่เคยเป็นแหล่งอาหารของผีเสื้อมีน้อย แต่กลับพบผีเสื้อที่หาไม่ได้บ่อยปรากฎ เช่น ผีเสื้อค้างคาว ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการนำตัวหนอน หรือนำพืชอาหารหรือต้นไม้แปลก ๆ เข้ามาปลูก

การพบผีเสื้อบางชนิดที่ไม่น่าจะเจอในเขตเมือง ยังไม่ถือว่าผิดปกติ และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ แต่มองว่าคนเมืองเจอผีเสื้อแปลก ๆ จะรู้สึกตื่นเต้น และทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งหันมาสนใจผีเสื้อมากขึ้น อย่างช่วง WFH ก็มีผู้ปกครองที่ลูกต้องเริ่มเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น

รู้จัก เสื้อภูฐาน” หรือ “สมิงเชียงดาว”

อาจจะเห็นแค่ซากที่อยู่ในกรอบรูปเท่านั้น แม้แต่นักกีฎวิทยาของกรมอุทยานฯ ก็ไม่เคยเห็นตัวเป็น ๆ ในธรรมชาติ นั่นคือ ผีเสื้อภูฐาน หรือ สมิงเชียงดาว ผีเสื้อที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

ข้อมูลจากสํานักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ ระบุว่า ถิ่นอาศัยของผีเสื้อสมิงเชียงดาว มีอยู่แห่งเดียวคือ ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,900 เมตร

สาเหตุที่ผีเสื้อชนิดนี้สูญพันธุ์ มาจากการบุกรุกป่าที่เป็นถิ่นอาศัยของผีเสื้อ ที่มีความจำเพาะเจาะจง และมีความอ่อนไหวต่อการคุกคามต่าง ๆ ซึ่งมักเกิดจากมนุษย์ รวมถึงการเข้าไปเก็บผีเสื้อมาเป็นของสะสม

 

ลักษณะของผีเสื้อภูฐาน ผีเสื้อเชียงดาว ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ผีเสื้อภูฏานขนาดกางปีกเต็มที่ 9.5 - 10.0 ซม. เป็นผีเสื้อที่มีรูปร่างของปีกที่เรียวยาว สีน้ำตาล มีลวดลายสีครีมระบายขวางปีกเป็นริ้ว ที่ปีกคู่หลังปลายปีกมีติ่งแหลม 3 ติ่งที่ขอบปีกด้านล่างใกล้กับโคนปีกมีแต้มสีเหลือง 3 จุด ถัดขึ้นไปมีแถบสีดำที่ภายในมีจุดกลมสีม่วง ที่เห็นชัด 2 จุด ขณะที่อีกจุดหนึ่งเห็นจาง ๆ ถัดขึ้นไปมีแถบแดงส้มอยู่บริเวณกลางปีก

เขตแพร่กระจาย ภูฏาน, สิกขิม, ภาคเหนือของอินเดีย ภาคเหนือของประเทศเมียนมาร์ จีน และไทย (เชียงใหม่) ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพ สูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย และสถานภาพทางกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครอง ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และบัญชีหมายเลข 2 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับเชฟหนุ่มลอบขายซาก “ผีเสื้อ” สัตว์คุ้มครองหายากผ่านโซเชียล

"ชุดเลี้ยงหนอนผีเสื้อ" เด็กตื่นเต้น เรียนรู้โลกใหม่ในวันที่ต้องอยู่บ้าน

สอนลูกให้เข้าใจชีวิต ผ่านวงจรหนอนผีเสื้อ

ไฟป่า-รุกที่-จับขาย ต้นเหตุ "ผีเสื้อสมิงเชียงดาว" หายไปกว่า 40 ปี

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง