วันนี้ (22 ก.ย.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในหัวข้อ “Mission to Transform : 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านระบบ Video Conference
โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2566-2570 เพื่อก้าวเดินต่อไปในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแผนฯ 13 กับการทำงานของรัฐบาล เพื่อพลิกโฉมประเทศว่า มีเป้าหมายที่สำคัญทั้งหมด 5 ประการคือ
1.การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม
2.การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
3.การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามขจัดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรอย่างต่อเนื่อง
4.การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ รัฐบาลมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศในทุกมิติต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5.การเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า การวางแผนเพื่อก้าวไปสู่อนาคต จำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลกอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มที่เรียกว่า Mega Trend ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตลอดจนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดังนั้น การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จำเป็นต้องพิจารณาบริบทการเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ ควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขของปัจจัยภายในหรือสภาพแวดล้อม และศักยภาพของประเทศทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทาง ที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุด สำหรับประเทศในการก้าวต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วของโลก
การพลิกโฉมประเทศไทยภายใต้แผนฯ 13 เป็นการทำงานที่มีความท้าทาย โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภารกิจในการพลิกโฉมประเทศในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้มาจากแผนพัฒนาฯ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อร่วมก้าวสู่โฉมหน้าใหม่ประเทศไทย “พลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”