กรณีการลักลอบตัดไม้ตะเคียนชันตาแมว 15 ต้นซึ่งมีอายุนับร้อยปี ในพื้นที่ป่าตามพ.ร.บป่าไม้ 2484 จ.นราธิวาส โดยกรมป่าไม้ขยายผลพบมีนายหน้าค้าไม้ในพื้นที่ ได้ขนย้ายไม้เข้ามาในโรงเลื่อย และได้ทำการแปรรูปไปแล้วส่วนหนึ่ง
วานนี้ (23 ก.ย.2564) นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยภายหลัง เข้าขยายผลตรวจสอบ โรงงานแปรรูปไม้ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรี อยุธยา หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลเชิงลึกกรณีมีกลุ่มขบวนการเข้าไปลักลอบตัดไม้ตะเคียนชันตาแมว 15 ต้น
จากการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่พบไม้ท่อนหลายประเภท มีทั้งไม้ตะเคียน ไม้กันเกรา ไม้สัก ไม้ยางนา และพบไม้แปรรูปอีกจำนวนมาก จึงขอตรวจสอบเอกสารการได้มาของไม้ โดยเฉพาะไม้ตะเคียนที่ขนย้ายมาจากจ.นราธิวาส ซึ่งตัวแทนโรงเลื่อยแจ้งว่า ไม้ดังกล่าวเป็นไม้ที่มีผู้ว่าจ้างให้ทางโรงเลื่อยแปรรูป และได้นำเอกสารมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
อ่านข่าวเพิ่ม เร่งล่าขบวนการลักตัดไม้กลางอุทยานฯ ขนาดหลายคนโอบ ร่องรอยเกลื่อนป่า

ภาพ:กรมป่าไม้
ภาพ:กรมป่าไม้
อ้างตัดไม้ในที่ดินเอกสารสิทธิตามมาตรา 7
ปรากฏว่า มีไม้ตะเคียนท่อนขนาดใหญ่จำนวน 3 ท่อน ความโต 325 เซนติเมตร ปริมาตร 11.30 ลูกบาศก์เมตร อายุกว่า 100 ปีอ้างว่าอยู่ในที่ดิน สปก. และได้รับเมื่อปี 2548 ซึ่งกฎหมายตามมาตรา 7 พ.ร.ป่าไม้ 2484 ที่ดิน สปก.สามารถตัดได้เฉพาะไม้ที่ปลูกขึ้นเองเท่านั้น
นอกจากนี้พบไม้กันเกราแปรรูป 482 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 6.7 ลูกบาศก์เมตร เอกสารที่นำมาแสดงพบข้อพิรุธหลายจุด โดยเฉพาะจำนวนไม้ที่ระบุในเอกสารมีน้อยกว่าความเป็นจริงมาก เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึด พร้อมจัดทำบันทึก รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป

ภาพ:กรมป่าไม้
ภาพ:กรมป่าไม้
พบพิรุธเอกสารครอบครองไม้
สำหรับไม้กันเกราท่อน และตะเคียนขนาดใหญ่ที่ถูกแปรรูปแล้ว เจ้าหน้าที่จะเร่งขยายผลเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หากพบว่าเอกสารที่นำมาแสดงไม่ถูกต้องก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะเดียวกันยังตรวจพบว่า โรงเลื่อยดังกล่าวจัดทำเอกสารไม่ชัดเจน และพยายามกล่าวอ้างว่าไม้ท่อนขนาดใหญ่ที่ตรวจพบเป็นของบุคคลอื่นที่มาว่าจ้างให้แปรรูป โดยไม่จัดทำเอกสารประกอบการได้มาของไม้ให้ถูกต้องซึ่งเป็นข้อพิรุธ และเจ้าหน้าที่จะร่วมกันขยายผลต่อไปยังท้องที่จ.นราธิวาส

ภาพ:กรมป่าไม้
ภาพ:กรมป่าไม้
สำหรับการเข้าตรวจสอบครั้งนี้ กรมป่าไม้นำโดยนายชีวะภาพ พร้อมด้วยพ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4กอ.รมน.) นายชาญชัย กิจศักดาภาพ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
