เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน "พัทยา" เหมือนพื้นที่ฝนแกล้ง ที่ตกหนักติดต่อหลายวัน วันละหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือน ส.ค. และช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา
ก่อสร้าง-โครงการรถไฟความเร็วสูง กระทบระบายน้ำ
นายสนธยา กล่าวว่า กายภาพของเมืองพัทยามีความลาดเอียง โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของทางรถไฟ หากเทียบกับบริเวณชายหาดเมืองพัทยาจะมีความสูงถึง 60 เมตร ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหนองปรือ ห้วยใหญ่ หนองปลาไหล พื้นที่โดยรอบจะสูงกว่าเมืองพัทยาทั้งสิ้น เมื่อฝนตก น้ำจึงไหลบ่ามายังเมืองพัทยาอย่างรวดเร็ว
รวมถึงสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย มีการถมพื้นที่บริเวณรอบเมืองพัทยา ทำให้พื้นที่ที่เคยรองรับน้ำ หรือชะลอน้ำ ให้ไหลเข้าสู่เมืองพัทยาช้าลง ลดน้อยลง จึงทำให้น้ำไหลบ่ามายังเมืองพัทยารวดเร็วขึ้น
รวมถึงการก่อสร้างบริเวณของการรถไฟฯ ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการปรับพื้นที่บริเวณทางรถไฟ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นพื้นที่รับน้ำและชะลอน้ำ เปลี่ยนไป ทำให้มวลน้ำจากด้านตะวันออกของทางรถไฟ ไหลเข้าเมืองพัทยาเร็วขึ้น เช่นกัน
ฝนตกหนักสุดในรอบหลายสิบปี
นายสนธยากล่าวว่า กรณีน้ำท่วมหนักเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 และวันที่ 7 -8 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน โดยวันที่ 27 ส.ค.2564 สถานีตรวจวัดน้ำฝน ของกรมอุตุนิยมวิทยา จุดพัทยา วัดปริมาณน้ำฝนได้ 134 มม.
ขณะที่วันที่ 7 ก.ย.2564 ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 194.2 มม. ซึ่งปริมาณน้ำฝนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิน 100 มม.
ปกติเมืองพัทยาจะรับน้ำอยู่ที่ 80-100 มม.ที่จะสามารถระบายน้ำไม่มากนัก และเมื่อวันที่ 27 ส.ค. และวันที่ 7-8 ก.ย. ปริมาณน้ำมากกว่าที่รับได้ ทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่ พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมก็ท่วม เพราะมีปริมาณน้ำมาก ภาพที่ออกมาจึงเป็นน้ำท่วมบริเวณกว้างและความเสียหายเยอะ
จุดน้ำท่วมซ้ำ - น้ำท่วมใหม่
นายสนธยาอธิบายว่า จุดที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาในช่วงก่อนหน้านี้ และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อมีการพัฒนาและก่อสร้างโครงการใหม่ และถมที่ดินให้สูงขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เช่น บนถนนสุขุมวิท ด้านหน้าสถานีตำรวจทางหลวงพัทยา,ถนนพัทยาใต้, ถนนพัทยากลาง, ถนนพัทยาเหนือ ,ถนนนาเกลือ, ถนนในซอยบัวขาว, ถนนเส้นเลียบทางรถไฟ, ถนนในซอยวัดธรรมสามัคคี, ถนนในซอยบุญสัมพันธ์,ซอยเขาน้อย,ซอยเนินพลับหวาน
ซอยบงกชท่วมหนักกว่าทุกครั้ง แต่ครั้งนี้มากกว่าเดิม จากเข่ามาถึงเอว รวมถึงถนนจอมเทียนสาย 2 และแยกวัดชัยมงคล
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อน เช่น ถนนจอมเทียนสาย 2 หมู่บ้านฟ้าริมหาด ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าเกิดก่อนถนนจอมเทียนสาย 2 จึงทำให้หมู่บ้านนี้อยู่ต่ำกวาถนน ก่อนหน้านี้มีปัญหาน้ำท่วมน้อยมาก ซึ่งใช้เวลาระบายน้ำประมาณ 1 วัน และชุมชนพื้นที่อื่น ๆ เช่น บริเวณวัดบุญสัมพันธ์
5 มวลน้ำมุ่งสู่พัทยา
นายสนธยา ยังอธิบายว่า ด้วยกายภาพของเมืองพัทยาที่เป็นแอ่งกระทะทำให้น้ำจากพื้นที่โดยรอบเมืองพัทยา ไหลมายังเมืองพัทยาในหลายทิศทาง ดังนี้
1.มวลน้ำที่ไหลบ่ามาจากต้นน้ำด้านทิศตะวันออก ซึ่งอยู่นอกเขตเมืองพัทยา และเข้ามายังพื้นที่ลุ่มต่ำหรือทางน้ำในอดีต เช่น บริเวณซอยหนองใหญ่ โดยน้ำล้นจากคลองเสือแผ้ว โดยน้ำเหล่านี้จะไหลรวมกันที่คลองนาเกลือและไหลออกทะเลที่สะพานยาว
2.บริเวณซอยสุขุมวิท พัทยา 45 ปริมาณน้ำไหลทางท่อลอด ถนนสุขุมวิทและเข้ามายังซอยเพนียดช้างและแยกร้านอาหารมุมอร่อย ซึ่งเป็นจุดน้ำท่วมขังประจำ และออกไปบริเวณถนนพัทยาสาย 2 ตัดเข้าซอยพัทยา 6/1 ออกถนนพัทยาสาย 1 (ชายทะเล)
3.บริเวณซอยบุญสัมพันธ์ น้ำจะเอ่อล้อนจากสถานีสูบป้องกันน้ำท่วมบ้านเขาน้อยที่ล้นข้ามถนนเลียบทางรถไฟออกมาถึงปากซอยสู่ถนนสุขุมวิท และผ่านทางท่อลอด ไปยังแยก ถ.สุขุมวิท พัทยาใต้
4.ถนนเลียบทางรถไฟบริเวณแยกเขาตาโล ซึ่งมีสถานีสูบน้ำจากแยกถ.สุขุมวิท-พัทยาใต้ และจากแนวถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อสูบน้ำส่งไปยังอ่างเก็บน้ำแก้มลิงห้วยใหญ่ เนื่องจากเป็นจุดรับน้ำที่ต่ำ ทำให้มีระดับน้ำที่ท่วมสูง
เมื่อมีน้ำเอ่อล้นจากสถานีสูบป้องกันน้ำท่วมเขาตาโล ก็จะลอดถนนเลียบทางรถไฟ เข้ามายังซอยวัดธรรมสามัคคี และไหลออกมาถึงปากซอยสู่ถนนสุขุมวิทรวมกันในบริเวณสุขุมวิทแยกพัทยาใต้
5.บริเวณปากซอยหนองกระบอก น้ำจะไหลบ่ามาเอล้นบริเวณถนนสุขุมวิท บริเวณ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ และฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้าโลตัสพัทยาใต้ หากน้ำมีปริมาณมากจะไหลทางท่อลอด ถ.สุขุมวิท ไปยังซอยจุฬารัตน์ ซอยเทพประสิทธิ์ 7 และซอยเทพประสิทธิ์ 9
เร่งรื้อก่อสร้างรุกล้ำ-เร่งระบายน้ำ
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องหารือกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นโดยรอบเมืองพัทยา ถึงแนวทางจัดการน้ำและป้องกันน้ำท่วมขังในภาพรวมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ทั้งในเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง
นายสนธยากล่าวว่า การเร่งการระบายน้ำ ด้วยการเปิดทางน้ำทางธรรมชาติขั้นแรกคือ การลดระดับทางเท้าบริเวณชายพาดพัทยา ลงมาให้เท่ากับพื้นถนนเพื่อให้น้ำลงสู่ทะเลเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ทรายไหลลงทะเลซึ่งได้เตรียมรถตักทรายที่ไหลออกไปกลับคืนมา
ขณะที่ปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะ ก็ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะคลองระบายน้ำสายสำคัญต่าง ๆ เช่น คลองกระทิงลาย คลองนาเกลือ คลองปึกพลับ คลองนาจอมเทียน คลองพัทยาใต้ ซึ่งมีหลายจุด ต้องใช้ทั้งกฎหมายและแนวทางการเจรจาให้รื้อถอน โดยเฉพาะคลองพัทยาใต้มีการรุกล้ำจำนวนมากเพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันรื้อถอนออกไปจำนวนมาก
ขณะที่บริเวณคลองปึกพลับ ขณะนี้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้วกว่า 80 % ทำให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น น้ำท่วมขังไม่นาน
จากนี้ไปจะจัดการแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำที่คลองนาเกลือ คลองนกยาง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยเน้นในจุดที่มีผลกระทบต่อการระบายน้ำ และจะดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมด โดยช่วงแรกจะเน้นในพื้นที่ที่มีผลต่อการระบายน้ำก่อน
จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่สาธารณะทั้งหมด แต่ขณะนี้ จะเน้นในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการระบายน้ำก่อน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน
นายสนธยากล่าวต่อว่า จากนั้นจะดำเนินการต่อไปโดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ตอนนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100 หลัง ส่วนใหญ่ยินดีที่จะรื้อเปิดทางให้ เพราะมีการพูดคุยถึงปัญหาในภาพรวม ที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน
การแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา ยังไม่สามารถแก้ไขได้เบ็ดเสร็จในระยะสั้น แต่เบื้องต้นคือ ต้องระบายน้ำให้เร็วที่สุด โดยมีแผนระยะกลาง ระยะยาวที่จะทำให้ระบบการระบายน้ำโดยภาพรวมทำได้ดีขึ้น
นอกจากนี้คือ จะดำเนินการปรับเส้นท่อระบายน้ำ เนื่องจากเดิมท่อกว่า 70 % มีขนาดไม่เกิน 60 ซม.ซึ่งเส้นทางที่มาการระบายน้ำ จะมีการปรับขนาดท่อให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก และสำรวจพื้นที่ทางน้ำเดิมและดูว่าน้ำจะไปในทิศทางใด
รวมถึงยังมีแผนการระบายน้ำในระยะกลางและระยะยาว ด้วยแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนพัทยาและต่อเนื่อง วงเงินรวมกว่า 26,000 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กางแผนโครงการ 2.6 หมื่นล้าน แก้น้ำท่วม “เมืองพัทยา” ยั่งยืน
เมืองพัทยาเร่งแก้น้ำท่วม เดินหน้ารื้อสิ่งก่อสร้างขวางทางระบาย
"สนธยา" เตรียมรื้ออาคารผิดกม.ขวางทางน้ำ ทำน้ำท่วมซ้ำซาก
เร่งแก้ปัญหาน้ำเซาะชายหาดเมืองพัทยา เสียหายหลายจุด