ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กางแผนโครงการ 2.6 หมื่นล้าน แก้น้ำท่วม “เมืองพัทยา” ยั่งยืน

ภัยพิบัติ
26 ก.ย. 64
19:41
1,715
Logo Thai PBS
กางแผนโครงการ 2.6 หมื่นล้าน แก้น้ำท่วม “เมืองพัทยา” ยั่งยืน
กางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียงเบ็ดเสร็จวงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท เดินหน้าตัดยอดน้ำไหลเข้าเมืองพัทยา หากโครงการแล้วเสร็จส่วนจัดการน้ำส่วนใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วมได้

จากปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ของเมืองพัทยาจนทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากหลายสิบจุด จึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เมืองพัทยาอย่างยั่งยืน

ครม.เห็นชอบโครงการ 2.6 หมื่นล้านแก้น้ำท่วมทั้งระบบ

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองพัทยาให้กลายเป็น พัทยาใหม่ หรือ (Neo Pattaya ) ที่ถูกวางไว้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 ในกรอบวงเงิน 26,000 ล้านบาท ประกอบด้วยระยะเร่งด่วน วงเงิน 9,500 ล้านบาท ระยะกลาง วงเงิน 7,500 ล้านบาท และแผนนระยะยาว วงเงิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว จะสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 128 มม./วัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 194 มม. และหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จน้ำที่ทางเมืองพัทยาจะต้องบริหารจัดการจะอยู่ที่ประมาณ 60-80 มม.ซึ่งจะอยู่ในศักยภาพที่เมืองพัทยาบริหารจัดการได้จะทำให้อนาคตสามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จในเมืองพัทยาและใกล้เคียงได้

แก้ปัญหา 3 ลุ่มน้ำ “เมืองพัทยา”

 

นายกเมืองพัทยา ยังกล่าวว่า แผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่องนี้ จะเป็นการปรับปรุงระบบระบายน้ำสายหลักและสายรอง ,ปรับปรุงคลอง ระบบระบายน้ำริมทางรถไฟ ,ก่อสร้างอุโมงค์และท่อรวบรวมและขนส่งน้ำ

 

การปรับปรุงและก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง ก่อสร้างท่อส่งแรงดันน้ำ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำครอบคลุมพื้นที่ 225 ตร.กม. ประชาชนในพื้นที่ 144,520 ครัวเรือน ภายใต้กรอบวงเงิน 26,000 ล้านบาท โดยจำแนกตามพื้นที่ลุ่มน้ำออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา (เมืองพัทยา เทศบาลเมืองหนองปรือ และเทศบาลตำบลนาจอมเทียน) พื้นที่ 43 ตร.กม. ค่าก่อสร้าง 17,140 ล้านบาท

2.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ-ห้วยมาบประชัน และคลองกระทิงลาย (เมืองพัทยา เทศบาลเมืองหนองปรือ และเทศบาลตำบลหนองปลาไหล ) พื้นที่ 118 ตร.กม. ค่าก่อสร้าง 7,160 ล้านบาท

3.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ (เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ และเทศบาลตำบลนาจอมเทียน) พื้นที่ 64 ตร.กม. ค่าก่อสร้าง 1,700 ล้านบาท

แผนเร่งด่วน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในแผนดังกล่าวได้มี Road MAP ระยะเร่งด่วน (1-5 ปี) ภายในพื้นที่เมืองพัทยา มี ดังนี้

1.พื้นที่การระบายน้ำกลุ่มพัทยาใต้ วงเงินรวม 5,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหลัก วงเงิน 4,233 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักส่วนต่อเชื่อม วงเงิน 1,067 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ในช่วงปีที่ 2 – 5

2.พื้นที่การระบายน้ำกลุ่มพัทยาเหนือ-พัทยากลาง วงเงินรวม 1,700 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง รวม 4 ปี แบ่งเป็นโครงการ ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหลัก วงเงิน 1,400 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักส่วนต่อเชื่อม วงเงิน 300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

 

3.พื้นที่การระบายน้ำกลุ่มเทพประสิทธิ์ วงเงิน 2,000 ล้านบาท รวม 4 ปี โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายหนัก วงเงิน 1,900 ล้านบาท โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักส่วนต่อเชื่อม วงเงิน 100 ล้านบาท

4.พื้นที่การระบายน้ำกลุ่ม รพ.บางละมุง วงเงิน 500 ล้านบาท วงเงิน ก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก วงเงิน 500 ล้านบาท

 

นายสนธยาระบุว่า เชื่อว่าโครงการระยะสั้น และระยะกลาง ซึ่งภายในปี 2566 นี้ ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาจะได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำยังต้องแก้ไขปัญหาระบบปั๊มสูบน้ำทั้งหมด 12 จุดได้เกือบสมบูรณ์แล้วก็จะช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้นทั้งการสูบน้ำลงทะเลและการสูบน้ำลงในคลองธรรมชาติ

ทั้งนี้ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวที่มีวงเงิน 26,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดหางบประมาณ ซึ่งในขณะนี้เมืองพัทยาใช้งบประมาณของตนเองประมาณปีละ 60-70 ล้านบาท และ งบอุดหนุนซึ่งไม่เกินปีละ 200 ล้านบาท

โดยเมืองพัทยาได้พยายามจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน จนกว่าโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ในโครงการที่ตัดน้ำที่ไหลบ่าบริเวณถนนเลียบทางรถไฟ ได้รับงบประมาณแล้ว 2 ใน 3 ของโครงการ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"สนธยา" ตอบคำถาม ทำไม "พัทยา" น้ำท่วมซ้ำซาก? 

เมืองพัทยาเร่งแก้น้ำท่วม เดินหน้ารื้อสิ่งก่อสร้างขวางทางระบาย

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง