วานนี้ (5 ค.ค.2564) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จ.ยะลา และปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตสุขภาพที่ 12 โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พบว่าเขต 12 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,900 -2,000 คนต่อวันจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า สวนทางกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศที่เริ่มลดลง
สาเหตุหลักจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในบ้านและชุมชน ไม่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จึงเน้นย้ำให้พื้นที่เตรียมมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน ที่ทั้งมาตรการส่วนบุคคล สื่อสารให้ประชาชนป้องกันตนเอง
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยา และเวชภัณฑ์ไปยังเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ 1,000,000 เม็ด, ชุดตรวจ ATK 20,000 ชุด, Oxygen concentrator 100 เครื่อง วัคซีนแอสตตราเซเนก้า 25,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 100,000 โดส เพื่อรองรับการป้องกันควบคุมโรค และเตรียมการรักษาในพื้นที่
สสจ.นครศรีฯ สั่งห้ามใช้ชุดตรวจ "เล่อผู่" ในกลุ่มเสี่ยงสูง
นอกจากนี้ที่จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งพบมีตัวเลขยอดติดเชื้อสูงสุดอันดับ 7 นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกมาแถลงถึงโรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ งดใช้ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu หลังพบว่าไม่สามารถตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงสูงได้
ก่อนหน้านี้ มีการใช้ ATK ชนิดนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 187 คน แต่เมื่อนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าระบ RT-PCR กลับพบผลบวกเพียง 92 คนเท่านั้น จึงไม่ปลอดภัยกับการนำมาใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังใช้ชุดตรวจนี้
ทั้งนี้ไม่ใช่ ATK ที่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาว่าเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดย ATK ตัวนี้ใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำได้ แต่ไม่สามารถใช้กับกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งระบบสาธารณสุขจะต้องเอาตัวมาตรวจด้วยเครื่องมือคุณภาพสูงเพื่อวินิจฉัยสู่การรักษา
ทั้งนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังเผยข้อมูลการส่งมอบชุด ATK ดังกล่าว มาให้จังหวัด กว่า 90,000 ชุด
อย.ย้ำความแม่นยำ ATK ขึ้นกับหลายปัจจัย
ขณะที่นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ความแม่นยำอาจไม่เท่า RT-PCR ที่ตรวจพบเชื้อได้แม้ปริมาณเชื้อน้อย ซึ่งชุดตรวจ ATK ใช้ตรวจได้ในกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มที่มีอาการสงสัยทางระบบทางเดินหายใจ
ยืนยันชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepuได้มาตรฐานรับรองจาก อย.และได้ประเมินชุดตรวจอีกครั้ง ก่อนกระจายชุดตรวจ ทั้งนี้ผลอาจคลาดเคลื่อน จากการเก็บรักษา เช่น อุณหภูมิหรือความชื้นสูง, หรือการเก็บตัวอย่างเชื้อไม่ถูกต้อง
ข้อมูลวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. มีการชุดตรวจ ATK แล้วกว่า 223,500 คน ในจำนวนนี้ ได้บันทึกผลการตรวจกว่า 144,500 คน มีผลติดเชื้อ 1,038 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดเพิ่ม 9,866 คน เสียชีวิต 102 คน
ไฟเขียวชุดตรวจ ATK ขายออนไลน์-ร้านขายยาลดราคา 40 บาท
เตรียมสั่งซื้อยา "โมลนูพิราเวียร์" 2 แสนคอร์ส คาดเข้าไทย ธ.ค.นี้