ตำรวจตั้งประเด็นขัดแย้งในครอบครัว
คดีมือปืนนั่งรถจักรยานยนต์ขับตามประกบ ก่อนลงมือยิง เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ พาณิชย์ผาติกรรม นักยิงปืนทีมชาติไทย ขณะขับรถเก๋งสปอร์ต ปอร์เช่ สีดำ ทะเบียน ชส 2223 กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง 166 ถนนรามคำแหงขาเข้า แขวงและเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2556
ต่อมา พญ.นิธิวดี ดวงจินดา หรือ หมอนิ่ม ภรรยาของเอ็กซ์ เดินทางมายังที่เกิดเหตุ พร้อมกับช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวเอ็กซ์ส่งโรงพยาบาลเสรีรักษ์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งประเด็นการสังหารไว้ที่ความขัดแย้งภายในครอบครัว
จับได้ยกทีม คนรับงาน-คนหามือปืน-มือปืน-คนขี่ จยย.
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายจิรศักดิ์ หรือ จี กลิ่นคล้าย อายุ 47 ปี มือปืน ให้การรับสารภาพว่า ได้รับการว่าจ้างจากนายสันติ หรือ ทนายอี๊ด ทองเสม อายุ 32 ปี ทนายความ ด้วยค่าจ้าง 2 แสนบาท โดยแบ่งกับนายธวัชชัย หรือ อ้น เพชรโชติ อายุ 35 ปี คนขับขี่รถจักรยานยนต์ คนละ 1 แสนบาท ก่อนแยกย้ายกันหลบหนี
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม น.ส.วรพรรณภูรี มนตรีอารีกุล หรือ เจ๊แหม่ม ผู้จัดหาทีมมืออปืน ให้การรับสารภาพว่า รับจ้างจากนางสุรางค์ ดวงจินดา มารดาของหมอนิ่ม และหมอนิ่ม ในราคา 1.2 ล้านบาท
ศาลชั้นต้นสั่งประหารหมอนิ่ม-คนรับงาน
ต่อมา วันที่ 19 ธ.ค.2559 ศาลจังหวัดมีนบุรี มีคำพิพากษา ประหารชีวิตสถานเดียว หมอนิ่ม และนายสันติ หรือทนายอี๊ด ส่วนคนขี่รถจักรยานยนต์ และมือปืน ให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่นางสุรางค์ มารดาหมอนิ่ม ศาลให้ยกฟ้อง
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้หมอนิ่มประกันตัวไป โดยมีหลักประกัน 1 ล้านบาท
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องหมอนิ่ม-สั่งประหารแม่
กระทั่งวันที่ 7 ส.ค.2561 ศาลจังหวัดมีนบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภายหลังเลื่อนอ่านคำพิพากษามา 2 ครั้ง ในคดีจ้างวานฆ่านายจักรกฤษณ์ หรือ เอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย หมายเลขดำ อ.383/57 ที่อัยการศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นโจทก์ฟ้อง นายจิรศักดิ์ หรือ จี กลิ่นคล้าย อายุ 47 ปี มือปืน
นางสุรางค์ ดวงจินดา อายุ 76 ปี พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม ภู่เจริญยศ อายุ 42 ปี นายสันติ หรือ อี๊ด ทองเสม อายุ 32 ปี ทนายความ และนายธวัชชัย หรือ อ้น เพชรโชติ อายุ 35 ปี คนขับรถจักรยานยนต์ เป็นจำเลย 1-5 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, จ้างวานใช้ ยุยงส่งเสริมให้ฆ่า, มีและพกพาอาวุธปืน ยิงอาวุธปืนในที่ทางสาธารณะ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานที่นำสืบมา ประกอบคำให้การรับสารภาพของ นางสุรางค์ จำเลยที่ 2 ต่อหน้าพนักงานสอบสวนและประธานสภาทนายความจังหวัดมีนบุรีที่ร่วมฟังการสอบสวน รวมทั้งสื่อมวลชนและนางปวีณา หงสกุล อดีต รมว.พม.ตำแหน่งในขณะนั้น ที่จำเลยที่ 2-3 ให้ความเคารพไว้วางใจ ที่ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางสุรางค์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างวาน ให้คนกลาง ซึ่งตำรวจและอัยการกันไว้เป็นพยาน ติดต่อนายสันติ หรือทนายอี๊ด ทองเสม จำเลยที่ 4 ได้รับมอบเงิน 2 งวด ครั้งแรก 6 แสนบาท และมีการร้องขอเพิ่มอีก 6 แสนบาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงให้
จากนั้นทนายอี๊ด จำเลยที่ 4 ได้ว่าจ้างนายจิรศักดิ์ หรือจี จำเลยที่ 1 มือปืนและนายธวัชชัย หรืออ้น จำเลยที่ 5 คนขี่รถจักรยานยนต์ นำนายจิรศักดิ์ มือปืน ไปยิงเอ็กซ์-จักรกฤษณ์ ผู้ตาย วันที่ 19 ต.ค.2556
ปมจ้างฆ่า ไม่พอใจลูกเขยทำร้ายลูกสาว-หลาน
โดยมือปืนและคนขี่รับสารภาพได้เงินค่าจ้างคนละ 2 แสนบาท สาเหตุจาก นางสุรางค์ มารดาหมอนิ่ม โกรธแค้นที่เอ็กซ์ลูกเขย ทำร้ายร่างกายหมอนิ่ม บุตรสาวและทำร้ายหลานสาวได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง และเชื่อว่าผู้ตายไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมได้
นางสุรางค์ มารดาหมอนิ่ม จึงมีความผิดฐานใช้จ้างวานให้ฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นควรพิพากษากลับเป็นให้ประหารชีวิต แต่คำให้การรับสารภาพของ น.ส.สุรางค์ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต
ส่วน พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม จำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามทางนำสืบและคำเบิกความพยานในศาลชั้นต้นรับฟังได้ว่า จำเลยยังมีความรักใคร่กับผู้ตายอยู่ เคยพาบุตรสาวไปเยี่ยมผู้ตายที่เรือนจำทหา ระหว่างถูกดำเนินคดีทำร้ายร่างกายจำเลย และไม่คัดค้านการประกันตัวผู้ตาย ของศาลทหาร รวมทั้งยังนั่งรถไปกับผู้ตายช่วงก่อนเกิดเหตุ
อีกทั้งช่วงหลังที่ผู้ตายออกจากเรือนจำ ก็ไม่มีเหตุทำร้ายจำเลย จึงไม่มีเหตุจูงใจ เชื่อว่า จำเลยยังมีความรักกับผู้ตายอยู่ อีกทั้งพยานหลักฐานแวดล้อมฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนจ้างวาน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
โดยพยานหลักฐานมีข้อสงสัยตามสมควรว่า ร่วมจ้างหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษาให้ยกฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยที่ 4 ร่วมทำผิดในการติดต่อจ้างวานและจำเลยที่ 1, 5 เป็นคนร้ายร่วมก่อเหตุนั้น แม้ไม่มีประจักษ์เห็นการจ้างวาน แต่มีข้อมูลบันทึกการใช้ โทรศัพท์ติดต่อเชื่อมโยงกัน ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ รวมทั้งข้อมูลการเคลื่อนที่สัญญาณโทรศัพท์ ตามเส้นทางเกิดเหตุ ที่มีการเฝ้าติดตามผู้ตายสอดคล้องกับภาพจากกล้องวงจรปิดตามเส้นทางใกล้ที่เกิดเหตุ
จำคุกตลอดชีวิตมือปืน-คนขี่ จยย.
โดยจำเลยที่ 1 และ 5 รับว่า เป็นบุคคลในภาพจริง ในการแถลงข่าวจำเลยทั้งสองไม่มีท่าทีถูกบังคับ จึงพิพากษายืนให้จำคุกตลอดชีวิตนายจิรศักดิ์ หรือจี จำเลยที่ 1 และ นายธวัชชัย หรืออ้น จำเลยที่ 5
ส่วนนายสันติหรือทนายอี๊ด จำเลยที่ 4 พิพากษายืนลงโทษประหาร ชีวิต และให้จำเลยที่ 1, 2, 4, 5 ร่วมกันชดใช้เงิน 2.5 ล้านบาทให้พ่อแม่ของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ด้วย ทั้งนี้ จำเลยที่ 4 ไม่มาฟังคำพิพากษาและไม่มีทนายมาศาลแจ้งเหตุขัดข้อง เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนีคดี จึงให้ออกหมายจับนายสันติ จำเลยที่ 4 เพื่อติดตามตัวมารับโทษต่อไป ซึ่งมีอายุความในการติดตามตัวภายใน 20 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลฎีกายกฟ้อง "หมอนิ่ม" คดีจ้างวานฆ่าเอ็กซ์-จำคุกแม่ 25 ปี