วันนี้ (12 ต.ค.2564) แม่ค้าออนไลน์ วัย 25 ปี พยายามติดต่อหา นายหน้าที่อ้างว่า สามารถนำเข้าผักอบกรอบจากประเทศจีนได้ แต่หลังจากโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า และไม่สามารถติดต่อคนขายได้
ผู้เสียหาย ระบุว่า เริ่มขายผักอบกรอบตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยติดต่อสั่งซื้อผ่านหน้าซึ่งหาจากเฟซบุ๊กซึ่งเป็นลักษณะยืนยันตัวตนได้ ในช่วงแรกสั่งสินค้ากับนายหน้าแล้วได้รับสินค้าจริงและราคาถูก กระทั่งสั่งซื้อสินค้าล็อตล่าสุดจำนวน 550 ลัง มูลค่ากว่า 887,000 บาท
แต่หลังจากครบกำหนดสั่งสินค้า 14 ก.ย. กลับไม่ได้รับสินค้า เมื่อสอบถามก็เกิดการบ่ายเบี่ยง กระทั่งวันที่ 17 ก.ย. นายหน้าออกมายอมรับว่า หมุนเงินไม่ทันและอ้างว่าจะนำเงินมาคืนให้ผู้เสียหาย แต่หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้เสียหายที่พบปัญหานี้ ยังมีผู้เสียหายกว่า 15 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท
ขณะที่ ผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาสอบปากคำในพื้นที่ จ.ชุมพร วันที่ 20 ต.ค.นี้
สำหรับนายหน้าคนดังกล่าว ผู้เสียหายยังพบข้อมูลเคยมีคดีเปิดบ้านออมเงิน ออมทอง จนมีผู้เสียหายกว่า 100 ราย มีหมายจับในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรมาบอำมฤต จ.ชุมพร ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.2564 "ผักอบกรอบ" ปัจจุบันเป็นสินค้ายอดนิยมสำหรับสายสุขภาพ มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 49-120 บาท
ร้องเรียนถูกหลอกขายของออนไลน์จากเฟซบุ๊กมากสุด
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ คดีฉ้อโกงและหลอกหลวงประชาชน
โดยพบว่า ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค.2564 เรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1212 ส่วนใหญ่มาจากซื้อ-ขาย ออนไลน์ อาทิ การสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา ได้รับสินค้าชำรุด หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย รับหิ้วของ ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ
สัดส่วนการร้องเรียนจากการซื้อผ่านเฟซบุ๊ก สูงสุดคิดเป็น 82.4% (19,296 ครั้ง) เว็บไซต์ 4.6 % และอินสตาแกรม 4.3 % และเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. พบว่าในปี 2564 มีร้องเรียนปัญหาซื้อขาย-ออนไลน์ เฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดกรณีฉ้อโกงต่อประชาชน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แอปฯ กู้เงินระบาด ดอกเบี้ยโหด ทวงประจานเพื่อน-เจ้านาย
แจ้งความ "NAS App" หลอกลงทุนแล้ว 3,242 คน เสียหาย 453 ล้าน
เตือน 5 อาชญากรรมไซเบอร์ รู้ทันก่อนโดน "แฮก-โกง-หลอก"