ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า จุดที่มีน้ำท่วมสูง คือ พื้นที่ อ.ไชโย ที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง แต่พื้นที่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งรับน้ำกลับไม่มีการผันน้ำเข้ามา เช่น พื้นที่ ม.4 ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง เป็นไร่สวนผสมมีต้นมะพร้าวกว่า 100 ไร่ และบ่อปลาบนพื้นที่กว่า 60 ไร่ ซึ่งคาดว่า มีปลาที่เลี้ยงไว้ทั้ง ปลาบึก-ปลากะโห้ นับแสนตัว
นายเตือนใจ ทรงไตย เจ้าของไร่ เล่าว่า ต้องใช้แรงงานเร่งขนย้ายปลาไปจุดน้ำลึกเพราะน้ำเริ่มแห้งขอด และปลาอาจตายได้ ทั้งนี้ตนเองข้องใจเหตุใดจึงไม่มีน้ำ ทั้งที่อีกฝั่ง (ฝั่งตะวันออก) มีน้ำท่วมสูง แต่กลับไม่มีการผันน้ำเข้ามา และได้ร้องเรียนไปยังกรมชลประทานขอให้ช่วยปล่อยน้ำเข้ามาด้วย
ผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่ พบว่าตั้งแต่คลองชลประทาน 1 ซ้าย และ 3 ซ้าย ตั้งแต่ช่วงวัดไชโย ไปถึงตัวเมืองอ่างทอง ระยะทาง 17 กม. พบว่าคลองมีน้ำน้อยและบางจุดแห้งขอด พร้อมได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อเท็จจริงจากโครงการส่งน้ำฯ ยางมณี แต่ไม่สามารถติดต่อได้