นักวิจัยประเทศรัสเซีย เปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของร่างกายนักบินอวกาศ ที่ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นเวลานาน พบว่า อาจมีผลกระทบต่อองค์ประกอบบางอย่างภายในเลือด ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของสมองมนุษย์ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ JAMA Neurology วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ข้อมูลในงานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการอาศัยของมนุษย์บนอวกาศเป็นระยะเวลานานในอนาคต
ขั้นตอนการทำวิจัยเริ่มจากการเก็บตัวอย่างเลือดของนักบินอวกาศรัสเซีย 5 คน ก่อนเดินทางขึ้นสู่อวกาศ เพื่อไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยนักบินอวกาศแต่ละคนประจำการบนสถานีอวกาศโดยเฉลี่ยนานประมาณ 169 วัน เมื่อนักบินอวกาศเดินทางกลับโลก ทีมงานวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดนักบินอวกาศอีกครั้ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบความแตกต่างและการทดสอบอื่น ๆ
ผลการเปรียบเทียบและทดสอบ พบว่า เลือดของนักบินอวกาศมีค่าไบโอมาร์คเกอร์ (Biomarkers) แตกต่างกัน 5 รูปแบบ ซึ่งค่าดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์กับค่าบ่งชี้ความเสียหายของสมองมนุษย์ โดยเฉพาะระดับโปรตีน NfL (Neurofilament Light Chain) โปรตีนกรด Glial fibrillary (GFAP) และโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ (ฺBeta-Amyloid)
ทีมนักวิจัยตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับการค้นพบดังกล่าวว่า การใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความเสียหายของเซลล์สมองมนุษย์ เนื่องจากพบค่าของโปรตีนอะไมลอยด์เบตาในเลือดของนักบินอวกาศสูง ซึ่งเป็นสัญญาณทางพยาธิวิทยาของผู้ที่มีการเสื่อมของระบบประสาทในสมอง หรือภาวะของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำนวนมากในกลุ่มผู้สูงอายุ
การศึกษาผลกระทบของร่างกายนักบินอวกาศหากใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศมีมานานแลh; ตั้งแต่การส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรก ๆ นักบินอวกาศมักมีอาการเกี่ยวกับมวลของกล้ามเนื้อและมวลกระดูกลดลง รวมไปถึงกระดูกสันหลังข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย แม้ว่าขณะนักบินอวกาศใช้ชีวิตบนอวกาศ นักบินอวกาศทุกคนจะต้องออกกำลังกายและรับประทานอาหารตามที่ถูกคำนวณเอาไว้ เพื่อลดอาการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อเดินทางกลับมายังโลก งานวิจัยข้างต้นอาจสามารถนำไปสู่การป้องกันผลกระทบของมนุษย์ หากถูกส่งขึ้นไปใช้ชีวิตบนอวกาศเป็นระยะเวลานานในอนาคต