ผลกระทบจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานและแรงงาน เมื่อนำมารวมกับราคาที่สูงขึ้นของพลังงานในช่วงฤดูหนาว ยิ่งทำให้ชาวอังกฤษเกิดความกังวลใจว่าอาจจะไม่มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังจะได้รับการแก้ไขด้วยการเชื่อมต่อพลังงานผ่านสายเคเบิลใต้น้ำ จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งผลิตพลังงานได้มากถึง 700 เมกะวัตต์
North Sea Link เป็นโครงการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างประเทศอังกฤษ และประเทศนอร์เวย์ ซึ่งได้เริ่มทำการก่อสร้างในปี 2014 และจะแล้วเสร็จภายในปี 2021 โดยเป็นการวางสายเคเบิลใต้น้ำที่มีความยาว 724 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสายเคเบิลที่ยาวที่สุดในโลก ผ่านอุโมงค์ที่มีความยาว 2.3 กิโลเมตร ผ่านภูเขาที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า Kvilldal ของนอร์เวย์ ซึ่งปลายทางของสายเคเบิลจะหยุดอยู่ที่ Blyth เมืองขนาดเล็กที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศอังกฤษ
จุดประสงค์ของการแลกเปลี่ยนพลังงาน คือการช่วยให้ทั้งสองประเทศมีพลังงานใช้อย่างพอเพียง โดยเน้นที่แหล่งผลิตพลังงานที่เป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม และพลังงานน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นพลังงานที่ทั้งสองประเทศสามารถผลิตได้ โดยพลังงานที่ผลิตได้มากในประเทศนอร์เวย์ คือ ไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในขณะที่ไฟฟ้าที่ได้จากแรงลม เป็นพลังงานที่ผลิตได้มากในประเทศอังกฤษ
หากประเทศใดประเทศหนึ่งมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ก็สามารถแลกเปลี่ยนพลังงานจากอีกประเทศหนึ่งได้ หรือช่วงใดที่สามารถผลิตพลังงานได้เกินความต้องการ ก็สามารถถ่ายโอนพลังงานไปให้อีกประเทศหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและความต้องการใช้พลังงานในแต่ละช่วงเวลา
นอกจากโครงการ North Sea Link จะเป็นการช่วยจัดการความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานในการใช้พลังงานแล้ว ยังเป็นการช่วยผลักดันให้อังกฤษบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2050 ได้อีกด้วย เพราะพลังงานที่นำมาใช้นั้นเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ได้มาจากธรรมชาติ และมากพอที่จะจ่ายให้กับ 1.4 ล้านครัวเรือน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานที่ได้จากฟอสซิล หรือพลังงานที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech