วันนี้ (19 ต.ค.2564) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และ น.ส.จิราพร สินธุไพร ร่วมแถลงเรื่องมหากาพย์ค่าโง่ เหมืองทองอัครา !! "ปกป้องทรัพย์สมบัติชาติ ไม่ให้นำไปชดใช้ความผิดพลาดจากการปิดเหมืองทองอัคราของ คสช." ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ดำเนินการ
นายสมพงษ์ เปิดเผยว่า ห่วงใยเรื่องการดำเนินการของรัฐบาล โดยเฉพาะความเสียหายที่อาจเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ ซึ่งกรณีเหมือนทองอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ และเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทคิงส์เกตนั้นได้แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ในออสเตรเลีย
สาระคือมีการแจ้งการเจรจากับรัฐบาลไทยขออนุญาตดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการโดยเร็วนั้น จึงมีความห่วงเรื่องการเจรจา ก่อนที่จะยื่นให้อนุญาโตตุลาการตัดสิน วันที่ 31 ต.ค.นี้ จึงกังวลว่าหากเป็นไปตามที่คิงส์เกตแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ติดตามกรณีนี้มาโดยตลอด ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ส.ส.ของพรรคนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ได้อภิปรายเปิดประเด็นไว้ เมื่อปี 2562 และ น.ส.จิราพร อภิปรายไม่ไว้วางใจปีนี้ที่เพิ่งผ่านมา ก่อนจะอธิบายถึงการใช้กฎหมายมาตรา 44 ที่72/2559 ของ คสช. ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2560
และจากนั้นได้มีการนำประเด็นพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2560 ซึ่งก่อนจะเข้ากระบวนการไต่สวน บริษัทคิงส์เกตเรียกค่าเสียหาย 22,500 ล้านบาท ซึ่งไต่สวนที่ประเทศสิงคโปร์ ช่วงวันที่ 3-12 ก.พ.2563
จากนั้น วันที่ 23 ก.ย.2564 บริษัทคิงส์เกตแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลีย เรื่องการเจรจากับไทยว่าจะได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ โดยจะมีการประกาศข้อตัดสินชี้ขาด วันที่ 31 ต.ค.นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศที่ประชุม ครม.ว่าจะรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2562
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะอนุญาโตตุลาการเตรียมออกคำตัดสินชี้ขาด แต่คู่พิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกตได้เจรจาตกลงกันว่าจะขอยืดเวลาสั้นๆ ให้อนุญาโตตุลาการพิเศษออกคำตัดสินในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ในข้อเจรจายุติประนีประนอมข้อพิพาทที่ 2 ฝ่ายพึงพอใจ
และในถ้อยแถลงการของคิงส์เกตนั้น มีส่วนหนึ่งทำให้พรรคเพื่อไทย เชื่อว่าคนไทยต้องสนใจ เนื่องจากจะเป็นมหากาพย์ค่าโง่ที่ไทยจะสูญเสียทรัพย์สมบัติของชาติ เพื่อแลกกับความผิดพลาดของ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปยึดเหมืองทองของเขามาเป็นของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งมาตรา 44 เป็นกฎหมายบังคับใช้ที่ไม่ผ่านรัฐสภา
ส่วนสิ่งที่คิงส์เกตแถลงอยู่นอกเหนือข้อพิพาท อ้างถึงคือ 1.ข้อเสนอของคิงส์เกตจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด ได้รับการอนุญาตทำเหมือนได้ใหม่ทั้งหมด 2. ยังได้รับทำเหมืองในพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมนอกจากเหมืองทองชาตรีที่มีอยู่ 3,900 ไร่
3. คิงส์เกตมีความมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จากรัฐบาลไทย มีนักลงทุนจากไทยไปร่วม และการดำเนินการครั้งใหม่จะได้รับค่าช่วยเหลือค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ รวมถึงกระบวนการอนุมัติจะดำเนินการโดยเร็ว แต่ข้ามขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมายไทย
หากรัฐบาลไทยยินยอมเช่นนั้น และคำแถลงของคิงส์เกตไปปรากฏในคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจริง คาดว่าไทยจะเสียหายอย่างมหาศาล เป็นการประนีประนอมที่เอาทรัพย์สมบัติชาติไปแลกกับความผิดพลาดของ คสช.
หรือหากอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไทยแพ้ ไทยก็ต้องชดใช้ เพราะเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามไว้ ที่เรียกว่า "นิวยอร์กคอนเวนชัน" และแม้คำตัดสินออกมา ประชาชนมีสิทธิ์ร้องคัดค้านให้ศาลไทยไม่ปฏิบัติตาม เพื่อร่วมกันปกป้องสมบัติชาติได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
กพร.ปฏิเสธข่าวลือไทยแพ้คดีเหมืองทอง
บุกค้น 9 จุด แจ้งข้อหา “นายก อบจ.จันทบุรี-เจ้าคณะอำเภอ” ทุจริตงบฯ หนุนพุทธมณฑล
กมธ.ดีอีเอส เตรียมเชิญ "ส.ธนาคารฯ-ธปท." ชี้แจงปมแอปฯ ดูดเงิน
พล.อ.โคลิน พาวเวลล์ เสียชีวิตด้วยวัย 84 ปี