ไทยพีบีเอสออนไลน์ ทำความรู้จักอีกหนึ่งอาชีพสำคัญ "นักอุตุนิยมวิทยา" ทำหน้าที่แจ้งเตือนลม ฝน พายุ "สมควร ต้นจาน" ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้คำนิยามนักอุตุนิยมวิทยา เปรียบเป็น "หมอดูอากาศ" มีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์หลากหลายมาสนับสนุน ควบคู่กับงานศิลปะ
เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ บางทีมีเคมีด้วย ส่วนศิลปะคือ วิเคราะห์ข้อมูล ลากเส้นแผนที่ด้วยมือเพื่อความสวยงาม ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝน
“ที่บอกว่าหวยจะออกอะไร เทียบกับที่บอกว่าฝนจะตกเมื่อใดยิ่งยากกว่า ตกที่ไหนยากเข้าไปอีก" สมควร บอกว่า สิ่งที่ท้าทาย คือ ความแม่นยำ ไม่ใช่เรื่องง่ายในการพยากรณ์อากาศที่แปรเปลี่ยนแปรปวนตลอดเวลา บางครั้งไม่มีวี่แววฝนก็ตกลงมา
ภาพ : สมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง
ข้อมูลเบื้องต้นรับมือ "ภัยพิบัติ"
อุตุนิยมวิทยา เป็นศาสตร์และข้อมูลเริ่มต้นในการนำไปใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ทุกมิติ โดยเฉพาะบูรณาการร่วมกัน เช่น การบริหารจัดการน้ำ หากต้นทางถูกต้อง ระบุได้ว่าปริมาณน้ำฝนตกมาเท่าใด ก็จะพยากรณ์ปริมาณน้ำท่าได้ กรมชลประทานจะทราบล่วงหน้าก็ปีนี้จะพร่องน้ำ หรือบริหารจัดการน้ำอย่างไร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งการรับมือภัยพิบัติ หากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถระดมความทั้งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ รวมทั้งช่วยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างทันท่วงที
สมควร ยังเสนอให้เพิ่มช่องทางการบูรณาการข้อมูลให้เป็นเอกภาพ โดยให้หน่วยงานจัดสรร และเผยแพร่ข้อมูลอย่างชัดเจน ป้องกันความสับสนของประชาชน
“พยากรณ์มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ แต่เราปรับกระบวนงานการบูรณาการ เพราะบางครั้งข้อมูลหลากหลายเกินไป ขาดเอกภาพ ทำให้สับสน และหลายคนจึงตื่นตระหนกกับข่าวลือ ข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กระทั่งไม่รู้จะเชื่อว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนข่าวปลอม”
เล็งเพิ่มสถานีตรวจวัดอากาศ-เพิ่มความแม่นยำ
สมควร บอกว่า ปัจจุบันไทยใช้ข้อมูลแบบจำลอง JMA จากประเทศญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งประเทศยุโรป คือ แบบจำลอง ECMWF เป็นข้อมูลการตรวจวัดจากเครือข่ายที่ส่งให้กับไทย ประกอบกับข้อมูลแบบจำลองของไทยเอง มาประมวลผลในซูปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อพยากรณ์อากาศ
แบบจำลองของต่างประเทศ ไม่ใช่การนำเข้าข้อมูลอากาศเริ่มต้นจากไทยเองทั้งหมด แต่ดึงข้อมูลเฉพาะพื้นที่มาปรับใช้
ขณะนี้ไทยมีสถานีตรวจวัดอากาศทั่วประเทศเพียง 100 กว่าสถานี และเตรียมเพิ่มอีก 1,000 สถานีภายใน 4 ปี ซึ่งถือว่าน้อยหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ หากต้องรายงานข้อมูลอย่างเรียลไทม์มากขึ้น ต้องมีมากถึง 4,000-5,000 สถานี
ส่วนในอนาคตอาจมีเครื่องมือช่วยให้สังเคราะห์ข้อมูลได้เร็วขึ้นอย่าง AI รวมทั้งการนำเสนอข่าวได้อย่างรวดเร็วเข้าถึงง่ายขึ้น
"พยากรณ์ระยะสั้นต้องถูกต้องแม่นยำ 80% ขึ้นไป สถานีตรวจวัด ยังถือว่าน้อยถ้าเทียบกับต่างประเทศ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะพยากรณ์ให้ถูกต้องแม่นยำต้องเพิ่มความถี่ของสถานีมากกว่านี้"
กว่าจะเป็น "แผนที่อากาศ"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ยังได้ติดตามการทำ "แผนที่อากาศ" ของนักอุตุนิยมวิทยา ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อแจ้งเตือนวันละ 4 เวลา ด้วยการลากเส้นผ่านแต่ละจุดแต่ละสถานีตรวจวัด บอกลักษณะอากาศ ความกดอากาศสูง ความกดอากาศต่ำ และกระแสลม
"ประภาพร วงศ์สมิง" หัวหน้าเวรพยากรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา เล่าว่า การลากเส้นบนแผนที่ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งความยากง่ายของลักษณะอากาศ แต่ส่วนใหญ่ต้องทำแข่งกับเวลา เฉลี่ย 1 แผ่นใช้เวลา 10-15 นาที ยกตัวอย่างช่วงเช้าต้องทำแผนที่ให้เสร็จก่อนเข้าห้องบรรยายสรุปลักษณะอากาศ ในช่วงเวลา 10.00 น.
ข้อมูลลมจะมาเวลา 09.00 น. แต่ 10.00 น. แผนที่จะต้องเสร็จในทุกระดับ ไม่ใช่แผ่นเดียว
ประภาพร ยกตัวอย่างการวาดเส้นในลักษณะ "ลมที่ระดับผิวพื้น" จะมีเรื่องของพื้นผิวโลกที่ขรุขระ เมื่อลากเส้นต้องหลบหลีก ใช้ทักษะความชำนาญมาก ส่วนลมระดับบนที่พ้นเหนือภูเขา ตึกสูง อากาศเคลื่อนตัวโดยอิสระ และราบเรียบกว่าลมระดับล่าง ซึ่งข้อมูลที่ออกมาต้องสอดคล้องระหว่างแผนที่ดาวเทียมและแผนที่ที่กรมอุตุนิยมวิทยาวิเคราะห์ ไม่ใช่ไปคนละทิศละทาง เพื่อความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศ
"ทุกอย่างมีความหมาย อย่างตัว A คือ Anticyclone ลมเวียนหมุนออก แล้วไปทางไหน แนวลมพัดสอบบริเวณนี้ควรจะมีลักษณะอากาศเป็นอย่างไร หรือบริเวณพายุต้องเปรียบเทียบกับดาวเทียม ว่าตรงไหนมีอากาศยกตัว แนวลมพัดสอบ แนวปะทะอากาศ ตรงไหนอากาศจมตัวลง"
ภาพ : ประภาพร วงศ์สมิง หัวหน้าเวรพยากรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา
ส่วนสาเหตุที่ยังใช้การลากเส้นด้วยมือแทนคอมพิวเตอร์นั้น ประภาพร บอกว่า เป็นเรื่องรายละเอียดของเส้นและการตัดสินใจที่ดีกว่า ยกตัวอย่างกรณีการหมุนวนเข้า-ออกของอากาศ ในบางครั้งคอมพิวเตอร์ตัดสินใจไม่ได้ ก็จะกลายเป็นจุดว่าง ๆ ขาว ๆ บนแผนที่ หรือเส้นไปคนละทิศคนละทาง จึงยังจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์มือ