วันนี้ (26 ต.ค.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 ผ่านระบบประชุมทางไกลที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมผู้นำสมาชิกอาเซียน
การประชุมในครั้งนี้เป็นการรวบการประชุมครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 มาไว้ในวันเดียวกัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีบรูไนเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิดหลัก เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทายทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม โดยเห็นว่าการต่อสู้กับโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของภูมิภาคต่อภัยคุกคาม ดังนั้นนอกจากจะต้องร่วมมือกันแก้ไขเรื่องการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ควรถอดบทเรียนจากโควิด-19 มาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาคมอาเซียน พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต พร้อมเสนอประเด็นที่อาเซียนควรให้ความสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
- ต้องดำเนินการตามข้อริเริ่มในกรอบอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว
- ควรเริ่มเปิดภูมิภาคและส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างปลอดภัย พร้อมจัดทำแนวทางการรับรองวัคซีนระหว่างกัน
- ปรับกระบวนทัศน์ในการใช้ชีวิต เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดล BCG ของไทย
ภาพ : เฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า
นายกรัฐมนตรียังเห็นว่า “วาระสีเขียวของอาเซียน” ควรเป็นแนวทางของภูมิภาคในอนาคต เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว โดยต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากทุกภาคส่วน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน, การใช้ทรัพยากรในดิน-ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค, การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล นำไปสู่เป้าหมาย Digital ASEAN, การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน รวมถึงการเงินสีเขียว สนับสนุนการลุงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"ไบเดน" เตรียมร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในบรูไน เปิดเผยว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะนำทีมคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ทำเนียบขาว ระบุว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกาจะหารือเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาต่ออาเซียน ในประเด็นกิจการภายในภูมิภาค รวมทั้งยกระดับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งในประเด็นโควิด-19 วิกฤตสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความท้าทายในด้านอื่นๆ
การตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ของไบเดน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการเรียกคืนความเชื่อมั่น และยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียน เพื่อสกัดอิทธิพลจีน โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมการประชุมในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2560