วันนี้ (27 ต.ค.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สารปรอทไม่ใช่สารอันตรายตัวใหม่ที่เพิ่งใช้ในสังคมไทย โดยช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา สารปรอทเคยเป็นสารอันตรายอันดับหนึ่ง ของเครื่องสำอางที่ใช้ในไทยมาก่อน ซึ่งจะนิยมผสมในครีม
เมื่อมีกระแสความนิยมของการมีผิวขาวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการลักลอบใช้ปรอทในเครื่องสำอาง เพื่อรักษาฝ้า จุดด่างดำ หรือทำให้ผิวขาว
สารปรอทเป็นสารอันตรายที่พบบ่อยสุด รองลงมาคือ สารไฮโดรควิโนน และกรดวิตามินเอ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะพิษของของสารปรอทนั้น มีผลกระทบต่อหลายระบบของร่างกาย
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม พิษที่สำคัญของสารปรอทต่อร่างกายคือ
1.พิษต่อผิวหนัง แม้ว่าสารปรอทจะมีผลทำให้เม็ดสีลดลง แต่พบว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากใช้ในระยะยาว จะทำให้ผิวบางลง เกิดจุดดำที่ผิวเพิ่มขึ้น เกิดฝ้าถาวร หรือในบางจุดจะทำให้เกิดผิวด่างถาวร
2.พิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการสั่น ปลายประสาทอักเสบ การทรงตัวผิดปกติ ชักกระตุก ซึมเศร้าหรือเกิดประสาทหลอนได้
3.พิษต่อตับและไต ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และไตอักเสบได้ในระยะยาว
4.พิษต่อระบบเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
5.หากใช้ระหว่างตั้งครรภ์ สารปรอทจะดูดซึมสู่ทารก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกสมองพิการและปัญญาอ่อนได้
ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรเลือกใช้เครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้มากที่สุด กรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้วเกิดผลข้างเคียง แนะนำให้หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันที และรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หรือหากสงสัยว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้อยู่มีสารอันตรายผสมอยู่หรือไม่ สามารถส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาขอรับการตรวจสอบสารอันตรายเบื้องต้นได้ที่สถาบันโรคผิวหนัง (โครงการตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอาง) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
โซเชียลวิจารณ์ แม่ค้าสาวใช้สารปรอททาผิว
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพจหมอแล็บแพนด้า โพสต์ภาพในเพจ ซึ่งเป็นภาพแคปหน้าจอของแม่ค้าคนหนึ่งที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
...ทำไมผิวเงา นี่ค่ะ ปรอทเพื่อนรัก ใช้มาตลอด จะเป็นหมื่นเป็นแสน จะผิวบาง จะเป็นมะเร็ง ก็จะใช้ ใครรักชีวิตก็ไม่ต้องใช้ มันเป็นความชอบส่วนบุคคล...
โพสต์นี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามในสื่อสังคมออนไลน์ โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว ระบุว่าเป็นอันตราย เสี่ยงเป็นมะเร็งในอนาคต
ด้านแม่ค้าสาวระบุผ่านเฟซบุ๊ก หลังมีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์เข้มข้นมากขึ้นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัว และนำมาใช้เอง ไม่ได้นำมาขาย ยืนยันตรวจสารในครีมทุกปี