เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พิธีเปิดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 มีการเผยแพร่พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ถึงผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
พระองค์ตรัสว่า ขอให้ผู้นำโลกทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงมากขึ้นสำหรับโลกใบนี้ ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่เวลาแห่งคำพูดจะก้าวขึ้นมาเป็นเวลาของการลงมือปฏิบัติ
ด้านบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เปรียบเทียบว่า ตอนนี้โลกถูกมัดไว้กับอุปกรณ์ทำลายล้างโลก และผู้นำโลกเปรียบเหมือนเจมส์ บอนด์ ที่กำลังหาทางตัดสายไฟ เพื่อให้นาฬิกาที่กำลังนับถอยหลังปิดลงก่อนที่จะเกิดระเบิด ซึ่งทำให้มนุษย์ถึงจุดสิ้นสุด ขณะนี้พวกเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ยกเว้นแต่ว่าโศกนาฏกรรมนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์ และสิ่งที่จะทำลายล้างโลกมีอยู่จริง

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ
ขณะที่นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2070 หรือปี พ.ศ.2613 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จากช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นครั้งแรกที่อินเดียให้คำมั่นสัญญาในเรื่องนี้
แต่เป้าหมายดังกล่าวล่าช้ากว่าเป้าหมายหลักของการประชุม ซึ่งต้องการให้ยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 หรือปี พ.ศ.2593
ถ้อยแถลงของผู้นำอินเดียสร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แต่กลับตั้งเป้าหมายที่กำหนดเวลาล่าช้าเกินไป
ที่มา : AP, Reuters, CNN
อ่านข่าวอื่นๆ
"เจน ซากี" โฆษกทำเนียบขาว ติดโควิด-19
ประชุม COP26 กลุ่มเคลื่อนไหวร้องผู้นำโลกแก้วิกฤตสภาพอากาศ