ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความเสี่ยงฟองสบู่ทองคำ 1980 และ 2011 ความเหมือนที่แตกต่าง

29 ส.ค. 54
17:08
383
Logo Thai PBS
ความเสี่ยงฟองสบู่ทองคำ 1980 และ 2011 ความเหมือนที่แตกต่าง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics มองว่า ราคาทองคำขาขึ้นมีปัจจัยพื้นฐานหนุนต่างจากฟองสบู่ทองคำปี 1980 เตือนความเสี่ยงของการหักหัวลง อาจมาจากความตื่นกลัวอย่างฉับผลันของนักเก็งกำไรระยะสั้นที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง

ในปี 1979 ราคาทองคำเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 125 นับจากต้นปี ต่อมาในปี 1980 ภายในเวลาเพียง 20 วันแรกของปี ราคาทองคำพุ่งทะยานอีกร้อยละ 52 จนถึงจุดสูงสุดที่ 850 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ก่อนจะดิ่งลงอย่างรวดเร็วและลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปี 2000 เหตุการณ์ทั้งหมดกินระยะเวลาขาขึ้นประมาณ 10 ปี และขาลงอีกประมาณ 20 ปี บทเรียนในครั้งนั้นบอกอะไรต่อนักลงทุนในทองคำบ้าง

ในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่ครั้งแรกที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนบางคนเรียกว่าเกิดภาวะฟองสบู่ทองคำ หากแต่ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1970 จะพบว่าราคาทองคำเคยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงมาแล้ว โดยในช่วงทศวรรษที่ 70 เกิดวิกฤตราคาน้ำมันขึ้นหลายรอบ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นหลายระลอกนี้ผลักดันให้ราคาทองคำพุ่งสูงตามไปด้วย แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยฟองสบู่แตกในปี 1980

สภาวะแวดล้อมปี 1980 และ 2011 ความเหมือนที่แตกต่าง

รmv'mาคาทองคำช่วงปี 1970-1980 เพิ่มขึ้นเร็วและแรงโดยมีราคาสูงสุดในปี 1980 มากกว่าราคาในปี 1970 ประมาณ 16 เท่า ขณะที่ช่วงปี 1999-ปัจจุบัน ราคาทองคำเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไปกว่า โดยที่ผ่านมา 11 ปีเพิ่มขึ้นเพียง 6.3 เท่า

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน วิกฤตเศรษฐกิจหลักในช่วงทศวรรษ 70 ต่างกับปัจจุบันค่อนข้างมาก โดยช่วง 1970-1980 เกิดปัญหาด้านอุปทาน (Supply shock) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลงหลังปี 1980 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจก็ผ่อนคลายลงได้ ขณะที่ปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจเกิดมาจากปัจจัยภายในของระบบเศรษฐกิจประเทศใหญ่อย่างสหรัฐและกลุ่มยุโรป ซึ่งทางออกคงไม่ง่ายเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน

ทองคำเริ่มไม่ปรับตัวตามราคาน้ำมันเสมอไป เห็นได้ชัดเจนในช่วงปี 2009 ที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงแต่ราคาทองคำกลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ต่างกับทศวรรษที่ 70 ที่ราคาน้ำมันมีผลต่อราคาทองคำอย่างชัดเจน

มูลค่าที่แท้จริงของทองคำในปัจจุบันยังต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 1980 ประมาณร้อยละ 17.4 เพราะฉะนั้นความเสี่ยงของการหักหัวลงอย่างรุนแรงจึงยังไม่สูงเท่า คำนวนจากราคาทองคำปรับด้วยเงินเฟ้อ จะพบว่าถ้าปรับด้วยราคาฐานปัจจุบันแล้ว ราคาทองคำที่จุดสูงสุดในปี 1980 จะเท่ากับ 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งปัจจุบันราคาทองคำทำจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แปลว่าปัจจุบันทองคำยังไม่สามารถทำมูลค่าสูงสุดได้เหมือนอย่างปี 1980

ข้อสังเกตจากมูลค่าที่แท้จริงในทองคำยังบอกได้ว่า นักลงทุนที่เข้าซื้อทองคำช่วงใกล้ฟองสบู่แตกในปี 1980 ถึงแม้จะถือไว้นานกว่า 30 ปีมาจนถึงปัจจุบันแล้วก็ตาม ผลตอบแทนจากทองคำของนักลงทุนที่เล่นกับฟองสบู่ก็ยังคงขาดทุนในมูลค่าที่แท้จริงอยู่ดี

ด้วยโครงสร้างและบริบททางเศรษฐกิจที่ต่างไปจากปี 1980 ทำให้ทองคำอาจจะยังไม่ถึงจุดสูงสุดที่จะทำให้เกิดฟองสบู่แตก แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรระลึกถึงความเสี่ยงและผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ไม่ต้องถือทองคำไว้กว่า 30 ปีโดยที่ยังขาดทุนในมูลค่าที่แท้จริงเหมือนอย่างฟองสบู่ทองคำครั้งที่ผ่านมา
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง