ผศ.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งชาประกวด เคยคว้า 2 รางวัลเหรียญทองจาก The World Green Tea Contest 2021 จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดย World Green Tea Association ได้สร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการไทยว่ามีศักยภาพ ปีนี้จึงส่งกลับเข้าประกวดอีกครั้ง ผู้ประกอบการชาดำ วังพุดตาล สามารถคว้ารางวัลสูงสุดของเวที Grand Gold price ที่ประเทศญี่ปุ่น จาก 79 ตัวอย่างทั่วโลกส่งเข้าประกวด ชนะประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ ที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตชา
ผศ.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง
ผศ.ปิยาภรณ์ บอกว่า ก่อนจะส่งเข้าประกวดได้รับความร่วมมือ และช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญประธานหอการค้าประเทศญี่ปุ่น ช่วงที่เดินทางมาประเทศไทย และได้ชิมชาที่ดอยแม่สลอง และสถาบันชาฯ ได้คัดเลือกหลายตัวอย่างพบว่า “ชาดำ” มีรสชาติหวาน และมีกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้มั่นใจมากขึ้นในการส่งเข้าประกวด ซึ่งเกณฑ์การส่งเข้าประกวดที่ประเทศญี่ปุ่นเน้นในเรื่อง คุณภาพ และรสชาติ, บรรจุภัณฑ์ และเรื่องราวของชาที่น่าสนใจ
ชาวังพุดตาล ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย ที่คว้ารางวัล Grand Gold Price จากประเทศญี่ปุ่น
นคร ชีวินกุนทอง เจ้าของชาวังพุดตาล ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย เจ้าของชาดำ ที่คว้ารางวัลคว้ารางวัล Grand Gold Price จากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยังตื่นเต้น และภูมิใจที่ชาดำของไร่สามารถสร้างชื่อเสียง ให้กับประเทศไทยคว้ารางวัลสูงสุดของเวที และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย คว้ารางวัลสูงสุดในเวทีชาระดับโลก
นคร บอกว่า กว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านการเรียนรู้มาถึง 3 รุ่น และมีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บผลผลิต และกระบวนการผลิต จนได้ชาดำที่มีลักษณะพิเศษ
รสชาติชาดำวังพุดตาล มีกลิ่นดอกไม้สดหอมเบาๆ เวลาจิบไปจะได้รสชาติเหมือนผลไม้สุก และมีกลิ่นหอมตอนท้ายๆ
เมื่อคว้ารางวัลระดับโลกมองการตลาดอย่างไร?
ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 การจำหน่ายสินค้าจะผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก หลังได้รับรางวัลก็มีผู้ค้า ในญี่ปุ่น และไต้หวันให้ความสนใน แต่ตลาดภายในประเทศ อยากให้ภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์ควบคู่กับการท่องเที่ยวในประเทศในเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลาย
ข้อมูลจากสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง ประเทศไทยปลูกชา 2 ชนิด คือสายพันธุ์จีน และชาอัสสัม ในจังหวัดเชียงราย ที่ดอยแม่สลอง พันธุ์ชาที่เหมาะสม คือชาจีน ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่นดอยวาวี พญาไพร เทอดไทย จะเป็นแหล่งปลูกชาอัสสัมชั้นดี แต่ละปีอุตสาหกรรมใบชามีมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาท และส่งออกไปต่างประเทศปีละ 3,000 ตัน ตลาดที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย ยุโรป และอเมริกา