เคาะงบ 3.7 พันล้านหนุน "ChulaCov19 -ใบยา" วัคซีนฝีมือคนไทย

สังคม
5 พ.ย. 64
12:14
305
Logo Thai PBS
เคาะงบ 3.7  พันล้านหนุน "ChulaCov19 -ใบยา" วัคซีนฝีมือคนไทย
ครม.เคาะวงเงิน 3,731 ล้านบาท สนับสนุน 2 โครงการพัฒนาวัคซีนโควิดฝีมือคนไทย ใน 2 โครงการคือ ChulaCov19 วงเงิน 2,316 ล้านบาท และวัคซีนใบยา 1,309 ล้านบาท หวังไทยผลิตวัคซีนต้นน้ำในไทย 60 ล้านโดสต่อปี

วานนี้ (4 พ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 2,316 ล้านบาท สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หรือ ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตและวิจัยโดยคนไทย เพื่อทำการทดสอบโดยเพื่อทำการทดสอบในระยะที่ 3 และเห็นชอบในหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมฯ พ.ศ.2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 “ChulaCov19 mRNA” กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทดสอบวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยา (อย.) กำหนด และเพื่อการผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบระยะที่ 3 และเตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างครบวงจร

หวังผลิตวัคซีนฝีมือไทยปีละ 60 ล้านโดส 

ทำให้ไทยสามารถผลิตวัคซีน COVID-19 ใช้ได้เอง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้สู่การผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นๆ รวมถึงโรคอุบัตใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการกำหนดกลไกการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ส่วนโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 (วัคซีน Baiya ผลิตจากใบยา) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีน COVID-19 ในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 อาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีน COVID-19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และสามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้ประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี

โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่ผลิตในไทยและผ่านการทดสอบในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเร่งจัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ของวัคซีนใบยา เสนอสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติงบตามขั้นตอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ใบยา" เริ่มทดสอบวัคซีนโควิดในมนุษย์ คาดผลิตล็อตแรกกลางปีหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง