วันนี้ (5 พ.ย.2564) เวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีที่ปรากฏคลิปในโซเชียลมีเดีย ซึ่งนายวีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ จ.นครสวรรค์ อาจมีพฤติการณ์ช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และทีมผู้สมัคร ส.อบต.หาเสียง ทั้งใน ต.พระนอน และ ต.เกรียงไกร อ.เมืองนครสวรรค์ ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแม้นายวีระกรจะออกมาภาคเสธ ว่า เป็นเพียงการอวยพรผู้สมัครและทีมงานผู้สมัคร และเป็นการลองไมค์ เทสเสียง เทสไมค์เท่านั้น ไม่มีเจตนาหาเสียงแต่อย่างใด แต่คลิปทั้ง 2 คลิปเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แม้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้งไปให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวในสัปดาห์หน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม การกระทำของนักการเมืองที่อาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะต้องรีบดำเนินการไต่สวนสอบสวนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เป็นการเร่งด่วน เพราะหากชักช้าอาจทำให้การเลือกตั้ง อบต.ที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้
ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ม.34 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด และใน ม.69 กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด ๆ อันเป็นคุณหรือโทษต่อผู้สมัคร หากฝ่าฝืน ม.34 เมื่อ กกต.ทราบแล้วต้องสั่งให้หยุดกระทำนั้น หากฝ่าฝืน ม.69 มีบทลงโทษค่อนข้างแรงใน ม.126 วรรคสอง มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีคลิปทั้งภาพและเสียงที่ชัดเจน จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต. ที่จะต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ และหากเป็นการฝ่าฝืนก็ต้องรีบสั่งให้หยุดดำเนินการดังกล่าว และที่สำคัญจะเป็นหลักฐานที่สามารถนำไปร้องเรียนเอาผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองต่อไป