เครื่องบินขับไล่ไอพ่นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านการทหารที่ถูกนำมาใช้งานในหลายประเทศตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในช่วงปี 1990 ได้มีการแบ่งหมวดหมู่ของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นออกเป็น 6 ยุคด้วยกันเพื่อง่ายต่อการจัดหมวดหมู่และทำความเข้าใจประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นได้อย่างถูกต้อง ในยุคเริ่มแรกของเทคโนโลยีเครื่องยนต์ไอพ่นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรบทางอากาศแต่ในเวลาต่อมาได้รับการปรับแต่งให้ใช้งานกับเครื่องบินขนส่งพลเรือนและกลายเป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่มีความสำคัญของโลกรูปแบบหนึ่ง
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 1 (ระหว่างปี 1940-1950)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคแรก ๆ เทคโนโลยีส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีเครื่องบินไอพ่นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวอย่างเครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 1 เช่น North American F-86 Sabre, Mikoyan-Gurevich MiG-15 และ MiG-17 เนื่องจากเป็นเครื่องบินรบในยุคแรกจึงไม่มีการติดตั้งเทคโนโลยีเรดาร์ อาวุธส่วนใหญ่ใช้ปืนกลและปืนใหญ่อากาศเริ่มมีการทดสอบใช้จรวดแต่ยังขาดความแม่นยำและไม่มีการนำวิถีที่มีประสิทธิภาพ
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 2 (ระหว่างปี 1950-1960)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคนี้เริ่มมีการติดตั้งเทคโนโลยีเรดาร์บนเครื่องบินเพื่อค้นหาศัตรูบนท้องฟ้า เริ่มมีการติดตั้งอาวุธจรวดนำวิถีด้วยอินฟราเรดแต่ยังคงมีการติดตั้งปืนกลอากาศและปืนใหญ่อากาศ เครื่องยนต์ไอพ่นได้รับการปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นสามารถบินได้ทะลุกำแพงเสียง เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้ เช่น Lockheed F-104 Starfighter, Northrop F-5, Mikoyan-Gurevich MiG-19 และ MiG-21
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 3 (ระหว่างปี 1960-1970)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพสามารถบินได้คล่องตัวมากขึ้นรวมไปถึงติดตั้งอาวุธที่มีความทันสมัย จรวด AIM-7 Sparrow, AA-7 Apex สามารถโจมตีเครื่องบินฆ่าศึกโดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นกันในระยะสายตา การบินด้วยความเร็วเหนือเสียงกลายเป็นเรื่องปกติ เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้ เช่น Mikoyan-Gurevich MiG-23, McDonnell Douglas F-4 Phantom II, Dassault Mirage III
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 4 (ระหว่างปี 1970-1980)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้เริ่มมีการนำระบบอิเลคทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนเข้ามาใช้งานในการควบคุมบังคับเครื่องบิน การแสดงผลข้อมูลบนแผ่นกระจกเพื่อระบุเป้าหมายในการสู้รบ รูปแบบของเครื่องบินได้รับการปรับแต่งให้รองรับหลักอากาศพลศาสตร์มากขึ้น เริ่มมีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าใช้ในการคำนวณออกแบบพัฒนาเครื่องบิน เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้ เช่น Mikoyan-Gurevich MiG-29, Sukhoi Su-27, McDonnell Douglas F/A-18 Hornet, General Dynamics F-16 Fighting Falcon, Dassault Mirage 2000
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 4.5 (ระหว่างปี 1980-1990)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้ได้รับการพัฒนามาจากเครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 4 แต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านของการออกแบบและอาวุธโจมตี มีขีดความสามารถในการรบหลายรูปแบบและเริ่มมีการนำวัสดุที่สามารถลดการสะท้อนของเรดาร์เข้ามาใช้งานทำให้สามารถหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ในระหว่างการบินสู้รบ เริ่มมีการติดตั้งระบบเรดาร์บนเครื่องบินมีความสามารถในการตรวจสอบมองหาเครื่องบินฆ่าศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้ เช่น Eurofighter Typhoon, JAS 39 Gripen, Dassault Rafale
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 5 (ระหว่างปี 2005-ปัจจุบัน)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้มีการติดตั้งเทคโนโลยีล่องหนเต็มรูปแบบสามารถหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ได้มากขึ้นเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน เริ่มมีการนำหน้าจอแสดงผลไปติดตั้งเข้ากับหมวกของนักบิน (Helmet-mounted display) อาวุธจรวดถูกซ่อนเอาไว้ในบริเวณลำตัวของเครื่องบินเพื่อหลบหลีกการสะท้อนของเรดาร์เครื่องบินสามารถทำความเร็วได้มากกว่าความเร็วเสียง เครื่องบินขับไล่ไอพ่นในยุคนี้บางรุ่นสามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง เช่น Lockheed Martin F-35 Lightning II, Sukhoi PAK FA, Chengdu J-20
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 6 (โครงการในอนาคต)
เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคนี้ได้รับการจัดให้เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแห่งโลกอนาคตติดตั้งเทคโนโลยีการรบขั้นสูงสุด สามารถหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ เครื่องบินบางรุ่นได้รับการออกแบบให้สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง ปฏิบัติการรบร่วมกับเครื่องบินรบไร้คนขับโดรนบินควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องบินสามารถทำความเร็วได้มากกว่าความเร็วเสียง อย่างไรก็ตามเครื่องบินรบรุ่นนี้มีแผนเข้าประการในกองทัพต่างอย่างน้อยในปี 2030 เนื่องจากเทคโนโลยีหลายอย่างอยู่ในช่วงของการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติม
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech