ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดประสิทธิผลยารักษาโควิด "โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด"

สังคม
9 พ.ย. 64
07:51
849
Logo Thai PBS
เปิดประสิทธิผลยารักษาโควิด "โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 6,904 คน เสียชีวิต 61 คน รักษาหายเพิ่ม 8,024 คน ด้าน สธ. เผยประสิทธิผลวิจัยยารักษาโควิด "โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด" เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติงบจัดซื้อ "ยาโมลนูพิราเวียร์" สัปดาห์นี้ และซื้อยา "แพกซ์โลวิด" 12 พ.ย.

วันนี้ (9 พ.ย.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6,904 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง 6,159 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 465 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 258 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 22 คน ผู้ป่วยสะสม 1,953,632 คน (1 เม.ย.) หายป่วยกลับบ้าน 8,024 คน หายป่วยสะสม 1,838,061 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 97,244 คน เสียชีวิต 61 คน

ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,898 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 417 คน ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) พบผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) เพิ่ม 1,497 คน ยอดสะสม 296,080 คน ส่วนการได้รับวัคซีนสะสม 80,333,515 โดส เข็มที่ 1 สะสม 43,730,547 คน เข็มที่ 2 สะสม 33,995,779 คน เข็มที่ 3 สะสม 2,607,189 คน

ยารักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด” ได้ผลดี

นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวถึงยารักษาโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิด ว่า เมื่อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายจะจับกับตัวรับไวรัสและเข้าสู่เซลล์ จากนั้นจะใช้เอนไซม์โปรตีเอสเพื่อเพิ่มจำนวนโปรตีนออกมาแล้วถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมจาก RNA เป็น DNA เข้าไป ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนออกมามากขึ้น ซึ่งยาที่พัฒนาขึ้นจะไปยับยั้งกระบวนการต่าง ๆ ของไวรัส 

สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดเป็นยาชนิดรับประทาน มีกลไกการทำงานต่างกัน โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะยับยั้งการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส ส่วนยาแพกซ์โลวิดจะยับยั้งเอนไซม์การสร้างโปรตีนที่ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวน

สำหรับประสิทธิผลของยาทั้ง 2 ตัวนี้ จากการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ขนาดเม็ดละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด รวม 800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน (40 เม็ดต่อคนในการรักษา) โดยให้จำนวน 385 คน และให้ยาหลอก 377 คน ติดตามผลในเวลา 29 วัน พบว่าช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 50% ในกลุ่มยาหลอกมีเสียชีวิต 8 คน กลุ่มยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย

ส่วนการให้ยาแพกซ์โลวิดขนาดเม็ดละ 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง ให้วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดต่อคนในการรักษา) โดยให้จำนวน 389 คน และให้ยาหลอก 385 คน ติดตามผลในเวลา 28 วัน พบว่า หากได้รับยาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 89% หากรับยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการประสิทธิผลจะอยู่ที่ 85% ถือว่ายาทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิผลช่วยไม่ให้อาการรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหนยังไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงรุนแรง 

แผนจัดหายา "โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด"

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติงบการจัดซื้อสัปดาห์นี้ คาดขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำมาใช้ได้ในช่วง ธ.ค.2564 หรือ ม.ค.2565 ส่วนยาแพกซ์โลวิดจะมีการหารือร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ หากมีความก้าวหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

"ยืนยันว่าจะพยายามจัดหายาที่มีคุณภาพมารักษาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยให้ได้ในเวลารวดเร็ว หากทำให้ประชาชนเข้าถึงยา 2 ชนิดนี้ได้ง่าย ก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี"

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดยังเป็นการเข้มมาตรการป้องกันโรคสูงสุดตลอดเวลา ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง จะช่วยลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยามาใช้รักษา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา 7 จังหวัด ติดโควิดจากงานทอดกฐิน

ปิด 4 หมู่บ้านที่ "หนองบัวลำภู" สกัดโควิดระบาด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง