ปัญหาธุรกิจระดมทุนซื้อ-ขาย สลากกินแบ่งรัฐบาลข้ามงวด หรือ ลอตเตอรี่ นอกจาก สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักมวยเหรียญทองโอลิมปิกที่ตกเป็นผู้เสียหายเเล้วมีอีกคดีที่ลักษณะคล้ายกัน
ย้อนไปเมื่อเดือน เม.ย.ผู้เสียหายจำนวนหลายร้อยคน จากหลายพื้นที่ มูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 3,000 ล้านบาท ผู้เสียหายเปิดเผยว่า ถูกฉ้อโกงจากเงินซื้อขายลอตเตอรี่เช่นกัน โดยเอเยนต์ขายลอตเตอรี่หลอกให้ร่วมลงทุนวิธีการขาย เริ่มจากการโน้มน้าวใจด้วยการฝากขาย โดยผู้ขายจะได้รับส่วนต่างจากกำไรแต่วิธีการนี้เป็นวิธีการสร้างเครือข่ายดึงเงินลงทุนหมุนเวียนลักษณะลูกโซ่
ทั้งนี้ผู้เสียหายเกือบ 100 คนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองตราด เพื่อให้คดีอาญากับ น.ส.จิตรา และเครือข่าย ผู้เสียหายอีก 30 คน แจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนขายลอตเตอรี่ทั้ง 7 คน เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดจากผู้ถูกฉ้อโกงใน จ.ตราด ประเมินกันว่ามากถึง 1,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมี ผู้เสียหายที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มเพื่อนรถตู้จังหวัดนนทบุรี" กลุ่มนี้ สูญเงินลงทุนรวมกว่าร้อยล้านบาทผู้เสียหายบางคนมองว่า ปัญหาขาดสภาพคล่องหรือธุรกิจล้มครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะขาดทุนสะสมจากวิธีการซื้อแพงขายถูกเพื่อหวังระดมทุน
รูปแบบธุรกิจซื้อ-ขายลอตเตอรี่มี 2 แบบ แบบแรก เป็นกลุ่มผู้ค้ารายย่อย คือ พยายามหาช่องทางได้ลอตเตอรี่ทุนต่ำที่สุด มีการรับสินค้าจริงเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ
รูปแบบที่ 2 เป็นกลุ่มยี่ปั๊วะ คือ เน้นการระดมทุน รูปแบบซื้อแพงขายถูก เพื่อจูงใจเครือข่ายให้เข้าร่วม ลงทุนลักษณะฝากขายได้ผลตอบแทนจากคนกลางที่ไปจำหน่ายต่อ เป็นการหมุนเวียนปั่นราคาลอตเตอรี่ให้สูงขึ้น
ข้อมูลการสืบสวนของตำรวจพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับดำเนินคดีไปแล้ว บริหารธุรกิจซื้อขายลอตเตอรี่ ที่ได้รับมาจากกลุ่มผู้ขายสลากฯ ด้วยการสร้างเครือข่ายหาลูกค้าวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ พฤติการณ์การกระทำผิด มีลักษณะการชักชวนกลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้เสียหายร่วมลงทุนโดยมี เจตนาฉ้อโกงตั้งแต่ต้น