วันนี้ (13 พ.ย.2564) สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนเทือกเขาหลวง อ.ลานสกา และพรหมคีรี มีปริมาณฝนสะสมอยู่บนยอดเขาจำนวนมาก หากหลากลงมายังคลอง มวลน้ำจะทะลักลงสู่พื้นที่ อ.เมือง และร่อนพิบูลย์ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น ต.มะม่วงสองต้น และโพธิ์เสด็จ ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องอาศัยท่ามกลางน้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ยอมอพยพเพราะยังห่วงทรัพย์สิน
ขณะที่ในชุมชนท่าช้าง อ.เมือง ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำที่ท่วมขัง นำเสื้อผ้ามาผลัดเปลี่ยนบนที่แห้ง บางส่วนใช้เรือสัญจรเข้าบ้านแทน หลังเกิดน้ำป่าไหลหลากเมื่อ 2 วันก่อน จนน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในตัวเมืองก่อนระบายลงสู่ทะเล
ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าทุกปลายปีจะเกิดน้ำหลาก 2-3 ครั้ง จึงเตรียมตัวทั้งยกของขึ้นที่สูงและอาศัยบนพื้นที่ชั้น 2 ของบ้าน รวมถึงประเมินระดับน้ำรายวันเพื่อรับมือ ล่าสุดระดับน้ำยังทรงตัว เนื่องจากมีฝนตกสลับหยุดตลอดทั้งวัน
ส่วนพื้นที่ต้นน้ำคลองท่าดี บ้านคีรีวง อ.ลานสกา ที่เป็นต้นน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมือง พบว่าระดับยังปกติ แต่ยังเฝ้าระวังเพราะยังมีฝนตกสะสมปริมาณมากบนเทือกเขา จึงจำเป็นต้องแจ้งเตือนระมัดระวัง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่น เพราะอาจจะมีน้ำป่าไหลเข้ามาอีกระลอก ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำ อย่างชุมชนคลองวังมะพร้าว เขตเทศบาลนำบลโพธิ์เสด็จ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ
ผู้ว่าฯนครศรี จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเกาะติดสถานการณ์
ขณะที่ นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งการเจ้าหน้าที่เฝ่าระวังพร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตามสถานการณ์และพร้อมเข้าปฏิบัติหน้าที่คลี่คลายสถานการณ์หากเกิดภัย เน้นย้ำประชาชนต้องปลอดภัย ลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ได้แจ้งเตือนให้มีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง โดยให้ทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก บริเวณที่ลาดเชิงเขาและการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณคลองท่าดีและคลองชะอวด
นอกจากพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 10 จุด คือ บ้านเนินธัมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ ,ชุมชนบ้านบางนกวัก ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ ,บ้านแสงวิมาน ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง ,บ้านบางศาลา ต.บางศาลา อ.ปากพนัง ,พื้นที่เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ,บ้านท่าซัก ต.ท่าชัก อ.เมืองนครศรีธรรมราช, บริเวณสนามบินนครศรีธรรมราช ,บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยาบริการเฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม บริเวณคลองชะอวดแพรกเมือง อ.ชะอวด และพื้นที่เขตเทศบาลเมืองทุ่งสง อ.ทุ่งสง แล้วยังได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตามคลี่คลายสถานการณ์กรณีเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลาก น้ำระบายไม่ทัน และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ เพื่อลดตัวเลขความเดือดร้อนเสียหาย และการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที โดยประชาชนที่ประสบเหตุสามารถแจ้งเหตุ ความเดือดร้อน หรือขอรับความช่วยเหลือที่หมายเลขโทรศัพท์ 075 358 442 หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ ศูนย์ติดตามฯ ภัยพิบัติด้านการเกษตร จ.นครศรีธรรมราช รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติเบื้องต้น วันนี้ เวลา 08.30 น.พบว่า ปริมาณฝนสูงสุดอยู่ที่ อ.สิชล มีปริมาณฝน 121.4 มม. ส่วนสถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 10-13 พ.ย.64 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 5 อำเภอ รวม 10 ตำบล 17 หมู่บ้าน มีน้ำท่วมขังเล็กน้อยในพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำ อ.ชะอวด อ.หัวไทร และอ.ปากพนัง โดยกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้ว 24 เครื่อง เป็นเครื่องผลักดันน้ำ 14 เครื่อง และเครื่อง Hydro Floe 6 เครื่อง ,เกษตรอำเภอ/ประมงอำเภอ/ปศุสัตว์อำเภอ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ สำรวจพื้นที่การเกษตรและให้คำแนะนำเกษตรกรให้การดูแลผลผลิต/การป้องกันกำจัดโรคในช่วงน้ำท่วม
และกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) แจ้งข้อมูลการเตือนภัย 13 พ.ย.64 (เวลา 00.38 น.) เตือนภัยอพยพ (สีแดง) บ้านสำนักเนียน ต.เขาน้อย อ.สิชล มีปริมาณฝนสะสม 12 ชั่วโมง 143.0 มิลลิเมตร ปัจจุบันยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำในลำห้วยเริ่มล้นตลิ่งท่วมสะพานทับช้างห้วยแก้ว รถไม่สามารถสัญจรได้
น้ำท่วม 5 จังหวัดภาคใต้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีสถานการณ์อุทกภัย และน้ำป่าไหลหลาก รวม 15 จังหวัด โดยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10 - 13 พ.ย. 2564 ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 จังหวัด (เพชรบุรี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา) รวม 26 อำเภอ 66 ตำบล 256 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,246 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 คน
สำหรับ จ.เพชรบุรี น้ำท่วม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม อ.เมืองเพชรบุรี อ.ท่ายาง อ.แก่งกระจาน และ อ.หนองหญ้าปล่อง รวม 13 ตำบล 47 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 110 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ส่วนภาคใต้ 5 จังหวัด รวม 20 อำเภอ 53 ตำบล 209 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,136 ครัวเรือน ดังนี้
- ระนอง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกระบุรี ละอุ่น รวม 3 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- ชุมพร น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.สวี และ อ.พะโต๊ะ รวม 25 ตำบล 153 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,683 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
- สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.พระแสง และ อ.ดอนสัก รวม 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 182 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบ 182 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.พระพรหม อ.สิชล อ.ร่อนพิบูลย์ และ อ.นบพิตำ รวม 10 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 160 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- สงขลา น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสงขลา อ.ระโนด อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ อ.ควนเนียง อ.สะเดา และ อ.คลองหอยโข่ง รวม 12 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คมนาคม" แนะทางเลี่ยงน้ำท่วม ถ.เอเชีย 41 ขาล่องใต้-ขึ้นกรุงเทพฯ
เช็กเส้นทาง! น้ำท่วมถนนสายเอเชียที่ชุมพร - รถไฟหยุดรอน้ำลด
"ชุมพร" น้ำท่วมครอบคลุม 8 อำเภอ หนักสุด "สวี-ทุ่งตะโก-หลังสวน"