วันนี้ (14 พ.ย.2564) ชาวบ้านในพื้นที่ ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้่นที่รองรับน้ำของ อ.สวี ประสบภัยน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ทำให้ชาวบ้าน สุนัข และแมว รวมเกือบ 40 ชีวิต เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ทีมข่าวไทยพีบีเอสนั่งเรือเข้าไปสำรวจ พบเจอชาวบ้านผู้ประสบภัย ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้รุนแรงน้ำมาเร็ว ทำให้ข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่วนการใช้ชีวิตก็เป็นไปด้วยความยากลำบากทั้งคนและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากผ่านมาแล้ว 3 วัน น้ำก็ยังคงท่วมสูง
สำหรับการเข้าออกหมู่บ้านของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายหมู่บ้านของ ต.นาโพธิ์ และ ต.ปากแพรก อ.สวี ต้องใช้เรือในการสัญจรเพียงอย่างเดียว หากไม่มีเรือก็ต้องล่องน้ำฝ่ากระแสน้ำที่ยังคงไหลเชี่ยว โดยพบว่าบ้านเรือนหลายหลังน้ำยังท่วมสูงเกือบมิดหลังคาบ้าน
ชาวบ้าน ต.ท่ายาง ประสบภัยพายุงวงช้าง
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ท่ายาง อ.เมืองชุมพร ประสบพายุพัดอย่างรุนแรง ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 10 หลังคาเรือน บ้านบางหลังได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ทาง ส.ส. และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างเร่งประสานความร่วมมือ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
น.ส.จิระวรรณ ทองธานี เปิดเผยว่า พายุงวงช้างเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) เวลาประมาณ 14.30 น. หลังจากกลับมาที่บ้าน พบว่ามีเสียงลมแรงไม่เกิน 5 นาที ซึ่งพายุพัดขึ้นมาจากปากหาด ทำให้หลังคาบ้านปลิว และฝ้าเพดานหล่นลงมา เหตุการณ์ขึ้นเร็วมาก จนทำอะไรไม่ทัน
ส่วนน้ำที่ท่วมสูงบนถนนสายเอเชีย 41 บริเวณด้านหน้าพระบรมธาตุสวี อ.สวี ขณะนี้ระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ ยานพาหนะทุกชนิดสามารถสัญจรผ่านได้แล้ว
เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จ.ชุมพร เกือบทั้งหมดระดับน้ำลดลง จนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติเหลือเพียงพื้นที่รับน้ำของ อ.สวี อ.หลังสวน และ อ.ท่าตะโก ที่ระดับน้ำยังคงท่วมสูงในหลายจุดผู้ประสบภัยหลายหมู่บ้านยังอยู่กันอย่างยากลำบาก
จ.นครศรีฯ เตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหม่
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเครื่องผลักดันน้ำ ที่ตั้งอยู่บริเวณสะพานคลองหน้าเมือง บนถนนพัฒนาการคูขวาง เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับผลักดันเร่งระบายน้ำในคลองหน้าเมือง ซึ่งเป็นคลองสายหลักอีกเส้นหนึ่งที่ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ปริมาณน้ำในคลองลดลงจนเห็นขอบตลิ่ง เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะไหลเพิ่มมาอีกระลอก
พร้อมกันนี้ ยังวางเครื่องสูบน้ำตามจุดเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะย่านชุมชนที่ลุ่ม เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกสะสมบนภูเขา และไหลมาสมทบอีกระลอก เพราะชาวบ้านต่างบอกว่า ช่วงปลายปีจะมีน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง
ขณะที่ชาวบ้าน โดยเฉพาะร้านค้าบนถนนพัฒนาการคูขวาง ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี แม้น้ำมาครั้งนี้จะยังไม่กระทบต่อถนนสายนี้ แต่หลายคนนำเริ่มวางแนวกระสอบทราย เพื่อป้องกันสินค้าเสียหายจากน้ำท่วม โดยนำเอาประสบการณ์จากปีก่อนมาเตรียมรับมือ
ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ พบว่ามีปริมาณน้ำมากจนเกือบเต็มความจุ คลองบางแห่งน้ำล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน เช่น พื้นที่ ต.โพธิ์เสด็จ และ ต.มะม่วงสองต้น
ชาวบ้านในพื้นที่จึงต้องเฝ้าระวังน้ำเพิ่มระดับขึ้นต่อเนื่อง ตามประกาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก เตือนให้ระมัดระวังคลื่นลมแรงและฝนตกหนักไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย.นี้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
อุตุฯ เตือน "ฝนตกหนัก-หนักมาก" กระทบ 10 จังหวัดใต้
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนดปรับพื้นที่สีแดงเข้ม-ขยายเคอร์ฟิวถึง 30 พ.ย.
"สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์" อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เสียชีวิต