เราไปเจอพวงหรีดพัดลม-ผ้าห่มในงานศพเยอะ คิดว่าคนคงอยากลดขยะ แต่ก็ยังเป็นพวงหรีดที่ไม่สวย จึงมีแนวคิดว่าอยากทำพวงหรีดที่ครบจบในอันเดียวทั้งสวย ลดขยะ แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้
เทรนด์รักโลกและใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นในแวดวงธุรกิจรายย่อย เช่นเดียวกันกับตลาด "พวงหรีด" ตัวแทนการระลึกถึงคนที่จากไป ซึ่งหลายคนอาจคิดภาพถึงขยะที่จะตามมาหลังพิธีงานจบ แต่วันนี้ "นนทิกานต์ อัศรัสกร" ได้หยิบแนวคิดพวงหรีดสวย และมีประโยชน์มาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ที่ขยะเป็น 0
"นนทิกานต์" ในวัย 28 ปี ก้าวเข้ามาสู่สังเวียนการค้าในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานเสื่อที่ก่อตั้งขึ้นมานานกว่า 50 ปี จากเสื่อพลาสติกธรรมดาที่ไปบ้านไหนก็ต้องใช้ หรือมีติดบ้าน แต่ท่ามกลางกระแสนิยมในการตกแต่งบ้านที่เปลี่ยนไปเสื่อเริ่มหายไปจากสิ่งของจำเป็นที่ต้องมี สาวคนนี้จึงลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์เอาใจคนรุ่นใหม่ นำเสื่อมาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋า และสิ่งของตกแต่งบ้านตีตลาดด้วยลายโมเดิร์นทันสมัย
เมื่อเริ่มต้นต่อยอดธุรกิจ "นนทิกานต์" จึงเริ่มคิดสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากพัฒนาประมาณ 5-6 เดือน จึงผุดไอเดียออกแบบ "พวงหรีดเสื่อ" จากพลาสติกรีไซเคิล 100% ในแบรนด์ "ลฤก พวงหรีดเสื่อ" ที่นำขยะพลาสติก จำพวกตระกูล PP เช่น หลอด ขวดขุ่น กระสอบ มาล้าง และคัดแยก เพื่อนำไปอัดเป็นเม็ดพลาสติก เลือกผสมสี ฉีดออกมาเป็นเส้นๆ ทอให้เป็นเสื่อลวดลายแปลกใหม่ จากนั้นนำมาพับจีบ ให้เป็นวงกลมเหมือนพวงหรีด ยึดกับโครงที่ทำด้วยอาสนะให้ตรงคอนเซ็ปต์ "เสื่อผืน หมอนใบ" ก่อนแซมด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ หรือดอกไม้จันทน์
เสื่อและอาสนะเอาไปให้วัด หรือโรงเรียนที่จำเป็นได้ ส่วนดอกไม้จันทน์ก็ใช้ในงานศพต่อได้ ต้องบอกว่า พวงหรีดเสื่อลฤก ของเราเท่ากับขยะเป็น 0 จริงๆ
"นนทิกานต์" ยังทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากเปิดตัวพวงหรีดเสื่อจากขยะรีไซเคิลไปแล้ว พบว่าได้รับฟีดแบ็กดีมาก ลูกค้าให้ความสนใจและสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การได้รู้ว่าธุรกิจรักษ์โลกนี้กลายเป็นโมเดลให้รุ่นน้องคนอื่น ๆ ที่กำลังจะเริ่มสร้างธุรกิจหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
"เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องไม่ใช่แค่เราได้กำไร แต่ลูกค้าต้องพอใจ และสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาระให้โลกของเราด้วย"