ก่อนจะเป็นขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ย้อนเส้นทางการเคลื่อนไหว 14 นศ.ดาวดิน-หน้าหอศิลป์
"ประชาธิปไตย ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และสันติวิธี" คือ หลักการ 5 ข้อ ของการรวมตัวในชื่อขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy movement หรือ NDM) ถูกประกาศเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้ประเทศคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย พวกเขายืนยันว่าไม่ใช่เพียงแค่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่เพราะเชื่อว่าปัญหาในสังคมหลายเรื่องที่ประชาชนกำลังต่อสู้จะไม่ได้รับความเป็นธรรม หากถูกครอบงำด้วยอำนาจที่วิจารณ์ไม่ได้
หลังการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันผ่านไป 2 วัน ในวันที่ 26 มิถุนายน นักศึกษาจำนวน 14 คน ถูกควบคุมตัวและจำกัดเสรีภาพอยู่ในเรือนจำ แต่หลายกิจกรรมที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้ยังคงถูกนำกลับมาพูดถึง
กลุ่มดาวดิน เป็นที่รู้จักมากที่สุดด้วยภาพการช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย นักศึกษาและอดีตนักศึกษาจากอีก 7 มหาวิทยาลัย ก็ล้วนทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยเช่นเดียวกัน
เดือนพฤศจิกายน 2557 นักศึกษาในกลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษาอีกหลายสถาบันคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เขื่อนแม่วงก์ ครั้งนั้นอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ เป็นแกนนำสำคัญ เขาเป็น 1 ในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม
ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ประสานมิตร ปี 2556 เธอแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องเขื่อน และน้ำท่วม ด้วยการเดินทางลงพื้นที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ พร้อมกับเพื่อนนักศึกษาต่างสถาบัน นับจากวันนั้นความซับซ้อนของปัญหาจากนโยบายรัฐ ทำให้ชลธิชากลายเป็นปัญญาชนที่ตื่นตัวและร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เธอเป็นนักศึกษาหญิงคนเดียวที่ถูกควบคุมตัว ขณะนี้อยู่ในฑัณฑสถานหญิงกลาง
นอกจากอภิสิทธิ์และชลธิชา ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ประสานมิตรแล้ว ยังมีนักศึกษาอีก 12 คน จากมหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกดำเนินคดีครั้งนี้ด้วย
นักศึกษาส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ เริ่มต้นทำกิจกรรมจากการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และเมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองหลายคนก็ได้ร่วมแสดงออกและเคลื่อนไหวตามความเชื่อของตัวเองอย่างเสรี มีทั้งความเห็นที่เหมือนและแตกต่างกัน และกิจกรรมสำคัญที่แสดงออกร่วมกันคือการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ผ่านสภาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การออกมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในวันที่ 24-26 มิถุนายน ดำเนินไปด้วยบรรยากาศที่ไม่มีการควบคุมโดยฝ่ายความมั่นคงอย่างเคร่งครัดเหมือนกับการทำกิจกรรมทุกครั้ง มีรายงานข่าวว่า คสช. พยายามระมัดระวังการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพของนักศึกษากลุ่มนี้ แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายน ก็มีการจับกุม
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งผู้บัญชาการทหารบก ให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า มีผู้ที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้