วันนี้ (22 พ.ย.2564) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และประธานกรรมการบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกันแถลงผลความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันระหว่าง TRUE และ DTAC โดยจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจและจัดตั้งเป็นบริษัทเทคโนโลยี
นายศุภชัย กล่าวว่า การเป็นผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมถึงจุดที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้น้อยมาก และมีบทบาทน้อยลงในสังคมปัจจุบัน ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งด้านผู้ประกอบการ การแข่งขัน และการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ทั้งทรูและดีแทค มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคและประเทศไทยต่อได้
หนุนสู่ยุค 4.0 ไทยศูนย์กลางเทคโนโลยี
เนื่องจากทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก จึงเห็นบทบาทใหม่ที่สำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของระบบแล้วนิเวศน์ที่จะสร้างเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ทั้งการลงทุนเทคโนโลยีของภาครัฐและสร้างการดึงดูดลงทุนในเทคโนโลยี ปฏิรูประบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ รวมถึงพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ประชาชน และประเทศทั้งทรูและดีแทค ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ ที่เน้นส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
พัฒนาเทคโนโลยี-คาดแชร์ส่วนแบ่งตลาด 2.17 แสนล้าน
นายซิคเว่ กล่าวว่า ทรูและดีแทคมีความจำเป็นต้องเป็นพันธมิตรกัน เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมไปสู่อนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมถึงต้องทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
โดยในช่วงสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความก้าวหน้า ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต โดยบริษัทเทคโนโลยีใหม่นี้ ทั้งทรูและดีแทค จะมีสัดส่วนหุ้นเท่าเทียมกัน และนำศักยภาพที่มีด้านโทรคมนาคมที่ดีที่สุดมาร่วม เพื่อทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งรองรับความท้าทายเชิงดิจิทัลในอนาคตได้
สำหรับบริษัทฯที่จะเกิดขึ้นแห่งนี้จะมีรายได้ประมาณกว่า 217,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 40 เทียบเท่ากับ AIS
ทั้งนี้ บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100–200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไทยแลนด์ 4.0 ด้วย
ความร่วมมือนี้จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐไทยในเรื่องนี้ จากนั้นจะมีการลงนามในข้อสัญญาทางกฎหมาย เข้าสู่กระบวนการชี้แจงต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลต่างๆ เช่นตลาดหลักทรัพย์ และพร้อมควบรวมทั้งสองกิจการเข้าด้วยกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีลใหญ่! TRUE-DTAC พร้อมควบรวมกิจการตั้งบริษัท Tech Company
"เทเลนอร์" ยอมรับอยู่ระหว่างเจรจาควบรวม "ทรู-ดีแทค"