กลุ่มสาระการงาน อาชีพ จะสอนหลักสูตรเดิม อาชีพเดิม 10 - 20 ปีก็คงไม่ไหว สังคมเปลี่ยน ด้านวิชาการก็ต้องปรับตัวด้วย เราสร้างหลักสูตรนี้เพื่อเป็นพื้นฐานให้เด็กได้นำไปใช้ต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้จริง
"มาสเตอร์พชร จันทร์ศิริ" ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ โรงเรียนอัสสัมชัญ สะท้อนหลักคิดสำคัญและกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาหลักสูตร โครงการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency ให้นักเรียนอัสสัมชัญชั้น ม.ปลาย
ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของ “Digital Disruption” (ดิจิทัล ดิสรัปชัน) ทำให้ทุกอาชีพต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่อาชีพครูที่ต้องตื่นตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อส่งต่อความรู้ให้นักเรียน "วิชาการงาน อาชีพ" ซึ่งเป็นวิชาสำคัญและเป็นพื้นฐานของอาชีพในอนาคตจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน
สกุลเงินดิจิทัลกลายเป็นเรื่องที่กำลังมาแรงในแวดวงธุรกิจ หากพูดถึงบล็อกเชน-คริปโตฯ ในไทย ก็ต้องนึกถึง Bitkub ที่เป็นยูนิคอร์น สตาร์ตอัพของไทย ก็ติดต่อเขาไปทันทีเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากผู้นำในด้านนั้น ๆ อย่างแท้จริง
ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญกับ Bitkub Academy โดยบริษัท Bitkub เรียกความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ไม่เว้นแม้แต่นักเรียนในโรงเรียนที่ทยอยเข้ามาสมัครหลักสูตรนี้แล้วกว่า 300 คน ขณะที่โรงเรียนอัสสัมชัญสาขาอื่น ๆ ก็ได้ติดต่อมาขอร่วมเรียนด้วย
สำหรับหลักสูตรนี้จะมีทั้งหมด 4 หัวข้อ คือ Blockchain & Cryptocurrency 101, Decentralized Finance, WHAT IS NFTS AND WHY IT IS COMMON? และ GAMEFI & HOWTO MAKE PROFITS เน้นปูพื้นฐานความรู้พื้นฐานเรื่อง บล็อกเชน-คริปโตฯ การแลกเปลี่ยนเงินต้องทำอย่างไร สำคัญอย่างไร ไปจนถึงการให้ความรู้เรื่อง NFT งานศิลปะสร้างรายได้ในยุคดิจิทัล
หลังจากเรียนจบหลักสูตรนักเรียน ที่ยังสนใจจะไปต่อในเส้นทางนี้ จะได้รับการดูแลจากศิษย์เก่าที่อยู่ในวงการ บล็อกเชน-คริปโตฯ มาช่วยให้คำแนะนำ และปรึกษาเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพในอนาคตได้ด้วย
สอน Future Skill ต่อยอดธุรกิจ-อาชีพแห่งอนาคต
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่สอนเรื่องการออมเงิน การลงทุน ทำบัญชี หรือการลงทุนหุ้น ต้องบอกว่าเรามีอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้วและพัฒนามาตลอดเพื่อให้นักเรียนมีทักษะทันกับโลก
มาสเตอร์พชร ตอบคำถามที่หลายคนสงสัย พร้อมบอกถึงเป้าหมายในการสร้างพื้นฐานอาชีพ และสนับสนุนเรื่อง Future skill อย่างวิชาสตาร์ทอัพ 1 เน้นการออกแบบนวัตกรรม เรียนรู้การตั้งเป้าหมาย สำรวจตลาด สร้างแอปพลิเคชัน และการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างมายเซ็ตพื้นฐานของการทำธุรกิจ เมื่อนักเรียนเติบโตไปไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร มายเซ็ตธุรกิจนี้ก็จะติดตัวไป หรืออาจจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย
เป้าหมายต่อไปของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ คือการพัฒนาหลักสูตร VR-AR เพื่อรับกับโลก Metaverse ซึ่งทั้งครูและนักเรียนเองก็เริ่มศึกษาความเป็นไปได้แล้ว จากการตั้งคำถามของนักเรียนว่าจะจัดงานรับใบประกาศจบการศึกษาอย่างไร หลังช่วง COVID-19 ทำให้ไม่ได้เจอเพื่อนทั้งที่กำลังจะจบ ม.6 กันอยู่แล้ว ซึ่งนักเรียนก็เตรียมจะนำเทคโนโลยี VR-AR เข้ามาช่วยและพัฒนากันไป ถือเป็นการเรียนรู้ที่เริ่มต้นด้วยความสนใจเด็ก ๆ อย่างแท้จริง
หลังจากนี้ อาจต้องจับตากันต่อไปว่า ท่ามกลางวิกฤตการว่างงานโดยเฉพาะตัวเลขที่ "สภาพัฒน์" กางออกมาพบอัตราว่างงานสูงสุด 870,000 คนในไตรมาส 3 ของปีนี้ นับว่าสูงสุดตั้งแต่มี COVID-19 ขณะเดียวกันคนจบปริญญามีอัตราการว่างงานสูงสุด 3.63% ส่วนใหญ่จบสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจการตลาด ซึ่งสวนทางกับการเติบโตของตลาดบล็อกเชน-คริปโตฯ สะท้อนผ่านผลประกอบการ 4 ปีของ Bitkub สร้างรายได้ก้าวกระโดดจนถูกประเมินว่ารายได้เติบโตสูงถึงปีละกว่า 1,000% ดังนั้น การพัฒนาความรู้ธุรกิจ และสร้างทักษะอาชีพแห่งอนาคตอาจกลายเป็นอีกหนึ่งทางออกของวิกฤตว่างงานได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ร.ร.อัสสัมชัญ" จับมือ Bitkub จัดหลักสูตรบล็อกเชน-คริปโตฯ ให้ นร.
เส้นทางหมื่นล้าน "จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" แห่ง BITKUB
พิษโควิดไตรมาส 3 คนไทยว่างงาน 8.7 แสนคน