ราว 3 ปีก่อน สุรัจ คูมาร์ แต่งงานกับ อุตรา จากการช่วยเหลือของนายหน้าหาคู่ ซึ่งครอบครัวของอุตราให้สินสอดฝ่ายชายด้วยทอง 768 กรัม รถยนต์ซูซูกิ และเงินสด 400,000 รูปี หรือกว่า 170,000 บาท
นอกจากนี้ คูมาร์ยังได้รับเงินรายเดือนกว่า 3,500 บาท จากครอบครัวของอุตรา เพื่อดูแลลูกสาวที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้
ขณะที่ภาพวันแต่งงาน คู่บ่าวสาวดูมีความสุข ไม่มีใครคาดคิดว่าในวัย 25 ปี อุตราจะเสียชีวิตจากพิษของงูเห่าอินเดีย หนึ่งในงูที่มีพิษร้ายแรงที่สุด และฆาตกรคือสามีของเธอเอง
เช้าวันที่ 7 พ.ค. แม่ของอุตรา พบลูกสาวนอนหมดสติอยู่บนเตียงในบ้าน โดยสามีอยู่ในห้องด้วย ระหว่างที่มาพักรักษาตัวจากเหตุถูกงูกัดก่อนหน้านี้ ครอบครัวอุตรารีบพาเธอไปโรงพยาบาล แต่แพทย์แจ้งว่าเธอเสียชีวิตไปแล้ว
ผลการชันสูตรพบพิษงูเห่าและยาสลบ เป็นที่มาของการเปิดการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม กินเวลา 78 วัน พร้อมเอกสารมากกว่า 1,000 หน้า และพยานกว่า 90 คน
ท้ายที่สุดนำมาซึ่งการจับกุมและตัดสินจำคุก สุรัจ คูมาร์ สามี ตลอดชีวิต 2 คดีซ้อน ในความผิดฐานฆาตกรรมโดยเจตนา พร้อมหลักฐานประกอบจำนวนมาก
ตำรวจรัฐเกรละได้ทดลองพฤติกรรมงู โดยปล่อยงูไปยังหุ่น พบว่างูเห่าจะไม่ฉกหากไม่ถูกยั่วยุ และพบว่ารอยเขี้ยวแผลถูกกัดที่แขนของอุตรา กว้างกว่าปกติ เทียบเท่ากับการกัดแบบจับหัวงูเพื่อรีดพิษ หรือบังคับให้กัด
ตำรวจผู้กำกับการสอบสวน ระบุว่า ไม่เคยเจอคดีแบบนี้มาก่อน และพยายามเก็บรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด ก่อนพบว่าเป็นการฆาตกรรมที่วางแผนมาอย่างดี
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นการพยายามฆ่าถึง 3 ครั้ง โดยหนึ่งปีหลังจากแต่งงาน ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 1 คน แต่คูมาร์เริ่มไม่พอใจที่ต้องดูแลอุตรา และเขาพบผู้หญิงคนใหม่ จึงวางแผนจบชีวิตเธอ รายงานสืบสวนสอบสวนพบว่า คูมาร์เริ่มสนใจค้นหาข้อมูลของงูพิษในปลายปี 2019
การซื้อ-ขายงูพิษในอินเดียผิดกฎหมาย เขาตัดสินใจซื้องูแมวเซา จากหมองู ชาวาร์รุกคาวู สุเรช และเอาไปปล่อยที่บันได ก่อนเรียกภรรยาลงมา หวังให้งูกัด แต่อุตราสังเกตเห็นงูก่อน ทำให้แผนครั้งแรกล้มไป
ครั้งที่ 2 คูมาร์ผสมยานอนหลับกับขนมหวานให้อุตรา เมื่อเธอหลับ เขานำงูไปกัดและทำลายหลักฐาน แพทย์สามารถช่วยชีวิตเธอได้ แต่ต้องอยู่โรงพยาบาล 52 วัน รับการผ่าตัด 3 ครั้ง และในความพยายามครั้งสุดท้าย คูมาร์ทำสำเร็จ ส่งผลให้ครอบครัวของอุตราต้องสูญเสียลูกสาวไปตลอดกาล
ความพยายามสังหารด้วย "งู" ไม่ใช่ครั้งแรกในอินเดีย และกำลังกลายเป็นรูปแบบการฆาตกรรมที่น่ากังวล แต่คดีของอุตรา นับเป็นคดีที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุด
ชลัญธร โยธาสมุทร ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส