การเลือกตั้ง อบต.28 พ.ย.นี้ นอกจากความพิเศษที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากต้องว่างเว้นไปนานถึง 8 ปี ยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ มีความคืบหน้าในการถ่ายโอนภารกิจตาม “แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยเฉพาะภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ไทยพีบีเอสพูดคุยกับ นายธนพร ศรียากูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมการมี อบต.ที่มาจากการเลือกตั้งจึงสำคัญต่อสถานการณ์ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจอะไรบ้างที่ถ่ายโอนไปแล้ว ภารกิจอะไรที่ยังรออยู่ และหากการเมืองเปลี่ยนจะมีผลต่อกระบวนการกระจายอำนาจหรือไม่
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทจัดการสิ่งแวดล้อม
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็คือการจัดการโดยรัฐในรูปแบบหนึ่ง ปกติการจัดการของรัฐมี 2 รูปแบบ หนึ่งคือ การจัดการโดยรัฐส่วนกลาง คือ กระทรวง ทบวง กรม และอย่างที่สองคือ รัฐส่วนกลางแบ่งอำนาจไปให้จังหวัด และผู้ปฏิบัติการจริงๆ ก็คือ อปท. ดังนั้น หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อมมาก เพราะเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดปัญหาที่สุด
สมมุติเกิดเหตุไฟป่า หรือเกิดเหตุน้ำเสีย กว่าที่ ทสจ. หรือ คพ. จะรู้เรื่อง คนที่รู้เรื่องก่อนคือ อปท. เพราะเวลาชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็ต้องร้องไปที่เทศบาลหรือ อบต. ก่อน
และการที่ อบต.มาจากการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าเขาอยู่เป็นวาระละ 4 ปี เขาก็ต้องทำงานเหมือนรัฐบาล ถ้าบริหารจัดการท้องถิ่นนั้นได้ดี ทรัพยากรธรรชาติดี สนองตอบความต้องการ และท้องถิ่นนั้นมีความยั่งยืน ประชาชนก็อาจจะมอบความไว้วางใจต่อ แต่ถ้าบริหารจัดการได้ไม่ดี ก็เป็นโอกาสของกลุ่มใหม่ที่ประชาชนก็อาจจะเลือกเข้ามาทำหน้าที่แทน
อบต.จึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานของรัฐเพียงหน่วยงานเดียวที่อยู่ในพื้นที่และใกล้ชิดปัญหาทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด นี่คือหลักการ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่หน่วยที่อยู่ในพื้นที่คือหน่วยที่รู้ดีที่สุด และทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการและความยั่งยืนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ นี่คือหลักการโดยทั่วไป
ทำไมเรื่องการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรถึงยังนิ่ง?
“แผนกำหนดขั้นตอนกระจายอำนาจให้ อบต.” เป็นไปตามพ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจาย อํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กฎหมายฉบับนี้ มีศักดิ์เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของฉบับปี 2540 ตามกระแสธงเขียวของรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แผนฯ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เข้มๆ คือ แผนฉบับที่ 2 ซึ่งออกมาใช้ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน ใช้มา 13 ปีแล้ว ปรากฏว่ามีการถ่ายโอนภารกิจต่างๆ ไปให้ อปท. หลายอย่าง เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รพสต. แต่ปรากฏว่าด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นภารกิจและบทบาทของ อบต.โดยแท้
เห็นว่าเรื่องนี้มันอยู่นิ่งมา 10 กว่าปีแล้ว สมควรที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่คนสัมผัสได้ใกล้ตัว หน่วยงานที่จะต้องดูแลก็ควรเป็นหน่วยงานที่ใกล้เขา คือขี่รถมอเตอร์ไซด์ไปท้วงติงได้
ส่วนราชการที่รับผิดชอบไม่มีใครอยากจะสูญเสียอำนาจนี้ เพราะส่วนราชการจะอยู่ได้ต้องมีบุคลากรและมีภารกิจ เพราะจะไปผูกพันกับงบประมาณที่หน่วยงานจะได้รับ คำถามคือ ถ้ากระจายอำนาจส่วนนี้มาให้ท้องถิ่น ตัวเองก็มีความจำเป็นลดน้อยลง ความสำคัญของตัวเองก็ลดน้อยลง ก็จะมีผลต่องบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบก็ลดน้อยลง เพราะภารกิจไม่ได้อยู่กับตัวเองได้ แต่ไปอยู่กับท้องถิ่น
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เป็นเรื่องของความอยากรักษาอาณาจักรที่ตัวเองเคยยิ่งใหญ่ตรงนี้เอาไว้ และด้วยวิธีคิดแบบนี้ ทำให้แต่ละหน่วยงาน ยิ่งขยายความใหญ่โต เพื่อบอกว่าสำคัญ เพื่อจะได้เงินเยอะ ได้คนเยอะ
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ประสิทธิผล อย่างเรื่องพื้นที่ป่าก็ลดลงตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานหรือกรมป่าไม้ วันนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว การทำงานในรูปแบบเดิมมันไม่ตอบโจทย์ปัญหาด้านทรัพยากร ธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาในยุคโลกร้อน เพราะมันตามมาด้วยความเทอะทะและอุ้ยอ้าย
คืบหน้าการจัดทำแผนกระจายอำนาจด้านทรัพยากร?
สิ่งที่ได้ทำไปแล้ว เรื่องแรกคือ “ไฟป่า” ฤดูแล้งมาทุกปี และเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า การถ่ายโอนภารกิจบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ถ่ายโอนมาให้ อบต. นานแล้ว แต่ปัญหาคือ ถ่ายโอนแต่งาน แต่ไม่ได้ถ่ายโอนงบประมาณให้ กรมป่าไม้พอถ่ายโอนมาแล้ว หน่วยงานก็ไม่มีสิทธิไปตั้งงบขอ เพราะสำนักงบประมาณบอกว่าภารกิจนี้ถ่ายโอนไปให้ อบต.แล้ว
สิ่งที่คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ทำก็คือ ตั้งแต่ปีงบฯ 2566 เป็นต้นไป การกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอุดหนุนด้านการบริหารจัดการไฟป่าให้กับ อบต.และเทศบาลตำบลที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อบต.เล็ก รับผิดชอบพื้นที่ ก็ได้เงินอุดหนุนเยอะ อบต.ไหนมีพื้นที่รับผิดชอบน้อย ก็ได้น้อยไปตามสัดส่วน ไม่ใช้วิธีการหารเท่า แต่ใช้วิธีดูตามพื้นที่รับผิดชอบจริงๆ
ถ้าให้การจัดการไฟป่ายังคงผ่านกลไกจังหวัดหรือกรม ต่อให้ไฟไหม้หนักหน่วงแค่ไหน ก็ไม่ได้มีผลสะเทือนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
อบต. กับบทบาทแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม?
กรณีอุบัติเหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ที่ จ.สมุทรปราการ หลายคนอาจไม่ทราบว่าโรงงานนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ อบต. ดังนั้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยอบต. จึงมีความสำคัญจะต้องเพิ่มความสามารถในการเข้าไปกำกับดูแลตรงนี้ให้ อบต.
สมมุติว่า มีโรงงานอยู่ในพื้นที่แล้ววงรอบในการที่รัฐจะต้องเข้าไปดูโรงงาน เช่น ถ้ารอให้หน่วยงานระดับจังหวัดมาตรวจ บางทีก็ 3 เดือนหรือ 5 เดือน ตรวจที แต่ท้องถิ่นเขาอยู่ใกล้ที่สุด เขาตรวจได้ทุกอาทิตย์ ดังนั้น กรณีโรงงานเคมีที่มีอุบัติเหตุที่ จ.สมุทรปราการ มันจะเกิดขึ้นน้อยลง ถ้าเรามีการถ่ายโอนภารกิจเรื่องการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมพวกนี้ โอนงบประมาณ โอนบุคลากรมาให้ อบต.
อบต.เขามาจากการเลือกตั้ง ลองคิดดูว่าถ้าคนอยู่ในเขตนั้นได้กลิ่นเหม็น เขาก็ต้องไปตำหนิ อบต. ซึ่งก็ต้องรู้ร้อนรู้หนาวต่อเรื่องแบบนี้แล้ว เพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าไปแจ้งทรัพยากร หรือผู้ว่าฯ ไม่มั่นใจว่าอีกกี่วันเจ้าหน้าที่จะมาดูให้ อันนี้คือข้อต่าง
แต่ต้องยอมรับว่า อบต.อาจจะยังไม่มีความชำนาญเพียงพอ กรมโรงงานก็ต้องเป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่ว่าถ่ายโอนแล้วก็ปล่อยเขาลอยแพ สิ่งที่กรมโรงงานต้องทำคือ เมื่อถ่ายโอนแล้ว ก็ต้องไปเป็นพี่เลี้ยงให้ก่อน เมื่อเขาแข็งแรงก็ค่อยๆ ปล่อย เชื่อว่าภายใน 3-5 ปี อบต.ก็สามารถรับช่วงงานต่อจากกรมโรงงานได้
ถ้าการเมืองเปลี่ยน ส่งผลต่อคกก.กระจายอำนาจ?
ถามว่าการเมืองเปลี่ยนจะมีผลไหม คงมีผลคือประธานเปลี่ยน เพราะประธานคือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย แต่คิดว่าวันนี้ คำว่า “กระจายอำนาจ” มันเป็นทิศทางหลักของโลก ผมไม่ค่อยกังวลและไม่รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องประหลาดอะไร ถ้าเกิดรัฐบาลเปลี่ยน ตัวบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งประธานจะเปลี่ยน ก็เป็นเรื่องปกติ แต่เชื่อมั่นว่า ทิศทางของการกระจายอำนาจเป็นทิศทางหลักของโลก บุคลากรอาจเปลี่ยนไปตามวาระและโอกาส แต่ทิศทางมันไม่เปลี่ยน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีตัวกฎหมายที่รองรับอย่างชัดเจน ทุกอย่างก็ยังเดินหน้าไปได้ และเชื่อว่านับวันการกระจายอำนาจจะถูกทำให้เข้มข้นขึ้นไปอีก จะเห็นว่าวันนี้ทุกพรรคที่กำลังจะหาเสียงเลือกตั้งในรอบหน้า พรรคไหนไม่พูดเรื่องกระจายอำนาจ พรรคนั้นถือว่าล้าสมัย
ทุกพรรคต้องมีนโยบายการกระจายอำนาจแน่นอน ไม่กังวลและไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะการเปลี่ยนก็เป็นการเปลี่ยนตัวบุคลากรไปตามวาระโอกาส
การเลือกตั้งวันที่ 28 พ.ย. นี้ จะมีทิศทางใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หนึ่ง บุคลากรใหม่ๆ ที่มีความรู้ความสามารถ กลับไปทำงานรับใช้ท้องถิ่นมากขึ้น สอง กระแสการกระจายอำนาจ สาม นโยบายกระจายอำนาจก็สอดคล้องกัน สี่ การที่เว้นวรรคการเลือกตั้งมา 8 ปี ปัญหาต่างๆ ไม่ได้หยุดตาม ไม่ได้ถูกแช่แข็งตามตำแหน่งนายก อบต. จึงต้องการรูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการ
ซึ่ง อบต.ในยุคใหม่ เขารู้ดีว่าปัญหาที่เขาต้องเข้ามาเผชิญ มันซับซ้อนขึ้นแค่ไหน และเมื่อสิ่งเขาเผชิญมันซับซ้อน แต่เขาต้องจัดการมันให้ได้ เขาก็ต้องใช้ความสามารถที่มีอยู่ จะสอดรับกับการที่มีการถ่ายโอนภารกิจต่างๆ ให้อบต.เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดหีบ "เลือกตั้ง อบต. 2564" ปชช.ทั่วประเทศทยอยใช้สิทธิ
เลือกตั้ง อบต.ที่ "เชียงราย" บัตรลงคะแนนหาย 1 เล่ม
เพื่อนบ้านบุกทำร้าย "สจ.อดิศักดิ์" ผู้สมัคร อบต.เขต 1 มหาสารคาม