ไม่ได้พัฒนามาเพื่อช่วยเหลือคนที่กลัวเข็มฉีดยาเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทสตาร์ตอัปจากมหาวิทยาลัย Waterloo ในประเทศแคนาดา ได้พัฒนาหุ่นยนต์ Cobionix ให้เป็นหุ่นยนต์อเนกประสงค์ที่ช่วยงานได้หลากหลาย โดยเริ่มต้นงานแรกด้วยการเป็นหุ่นยนต์ช่วยฉีดวัคซีน ด้วยการปล่อยแรงดันสูงแทนการใช้เข็มฉีดยา
Cobionix หรือ Cobi เป็นหุ่นยนต์ของบริษัทสตาร์ตอัปที่ก่อตั้งในมหาวิทยาลัย Waterloo และเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติตัวแรกที่สามารถฉีดยาเข้าสู่กล้ามเนื้อให้กับผู้ที่มารับบริการได้โดยไม่ใช้เข็มฉีดยา แต่จะใช้การฉีดอัดแรงดันสูงซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดไม่ใหญ่เกินเส้นผมในการนำยาหรือของเหลวเข้าสู่ร่างกายแทน คนที่มีอาการกลัวเข็มฉีดยาจึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเจ็บตัว
นอกจากหุ่นยนต์ Cobionix จะช่วยลดความกังวลใจของคนที่กลัวเข็มฉีดยาแล้ว บริษัทผู้พัฒนายังมองว่าการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงาน ยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต เพราะหุ่นยนต์สามารถทำงานลักษณะเดียวกันได้โดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยควบคุม นอกจากจะทำให้ผู้มารับบริการไม่รู้สึกหวาดกลัวแล้ว การฉีดวัคซีนแบบไร้เข็มยังไม่ทิ้งร่องรอยการฉีดไว้บนผิวหนังอีกด้วย
บริษัทผู้พัฒนา Cobionix ให้รองรับการทำงานที่หลากหลายด้วยการตั้งค่าการทำงานที่เหมาะสม จึงได้เริ่มต้นการทำงานของหุ่นยนต์อัตโนมัติด้วยการทำหน้าที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งได้ทำการทดลองฉีดไปเป็นที่เรียบร้อย และคาดหวังที่จะนำไปต่อยอดให้บริการด้านสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพต่อไป
หุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม โดยเริ่มต้นจากการใช้ระบบเซนเซอร์ LiDAR สแกนร่างกายของผู้มารับบริการ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาสร้างแผนที่ร่างกายแบบ 3 มิติเพื่อวิเคราะห์ และกำหนดจุดที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย และหุ่นยนต์ยังสามารถแนะนำได้ด้วยว่าผู้มารับบริการควรยืนในตำแหน่งไหนจึงจะเหมาะสมในการฉีดมากที่สุด
แม้ว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ Cobionix ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพิ่มเติมในอีก 2-3 ปีตามการคาดการณ์ของผู้พัฒนา แต่อย่างน้อยที่สุดก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่กลัวเข็มฉีดยา
อาการกลัวเข็มฉีดยาอาจไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับบางคน เพราะเป็นความกลัวที่มีพื้นฐานทางด้านจิตใจ การมีตัวช่วยที่ทำให้ไม่ต้องเจ็บตัวจากเข็มฉีดยา จึงเป็นทางออกที่น่าจะเหมาะสมสำหรับคนที่ต้องประสบกับปัญหานี้
ที่มาข้อมูลและภาพ: uwaterloo.ca
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech